คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตัดฟันไม้หวงห้ามกับการมีไม้หวงห้ามไว้ในความครอบครองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน. แม้จะยังมิได้เคลื่อนย้าย ไม้หวงห้ามนั้นจากที่ได้ตัดฟันไปไว้ที่อื่นก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จำเลยบุกรุกเข้าไปในบริเวณป่าโครงการไม้กระยาเลย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน จำเลยแผ้วถางก่นสร้างและเผาป่าอันเป็นการทำลายป่า แล้วยึดถือครอบครองปลูกสร้างบ้านลงในบริเวณที่ก่นสร้าง ในการนี้จำเลยได้ตัดฟันไม้กราดอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๐๕ อันดับที่ ๑๒๙ จำนวน ๔ ต้น ปริมาตร ๗.๖๑ ลูกบาศก์เมตร และจำเลยบังอาจมีไม้หวงห้ามจำนวนดังกล่าวอันเป็นไม้หวงห้ามที่ยังมิได้แปรรูป และไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายไว้ในความครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๑๑, ๕๔, ๖๙, ๗๒ ตรี, ๗๓, ๗๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๖ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๒ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓, ๗, ๙ พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๐๕ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑พ.ศ. ๒๕๑๔ ข้อ ๒ ริบของกลาง และให้จำเลยกับบริวารออกไปจากป่าด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๑๑, ๕๔, ๖๙, ๗๒ ตรี, ๗๓, ๗๔ พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๖ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๒ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓, ๗, ๙,พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๐๕ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๑๔ ข้อ ๒ ลงโทษฐานแผ้วถางป่าจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๒,๐๐๐ บาท ฐานตัดฟันไม่จำคุก ๒ ปีปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท และฐานมีไม้หวงห้ามอันยังไม่แปรรูปไว้ในความครอบครองจำคุก ๒ ปี ปรับ ๑๒,๐๐๐ บาท รวมจำคุก ๔ ปี ๖ เดือน ปรับ ๒๔,๐๐๐ บาทจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ๓ เดือน ปรับ ๑๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ของกลางริบ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการความประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙, ๓๐ และให้จำเลยและบริวารออกจากป่าด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ความผิดฐานตัดฟันไม้หวงห้ามกับมีไม้หวงห้ามที่ตนตัดไว้ในครอบครองเป็นความผิดต่างกรรมกัน ส่วนความผิดฐานแผ้วถางป่า กับตัดฟันไม้หวงห้ามในระหว่างวันเวลาเดียวกันเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานตัดฟันไม้หวงห้ามซึ่งเป็นบทหนัก พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยฐานตัดฟันไม้หวงห้าม โดยมิได้รับอนุญาต จำคุก ๒ ปี ปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท กับฐานมีไม้หวงห้ามไว้ในความครอบครองจำคุก ๒ ปี ปรับ ๑๒,๐๐๐ บาท รวมเป็นโทษจำคุก ๔ ปีปรับ ๒๒,๐๐๐ บาท ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่งคงจำคุก ๒ ปี ปรับ ๑๑,๐๐๐ บาทโทษจำคุกรอไว้มีกำหนด ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ความผิดฐานตัดฟันไม้หวงห้ามและฐานมีไม้หวงห้ามไว้ในความครอบครองเป็นความผิดกรรมเดียวกัน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการตัดฟันไม้หวงห้ามเป็นความผิดกรรมหนึ่งและเมื่อจำเลยตัดฟันสำเร็จลงแล้ว แม้จะยังมิได้เคลื่อนย้ายไม้หวงห้ามนั้นไปไว้ที่อื่น แต่เมื่อจำเลยได้ครอบครองไม้หวงห้ามนั้นต่อมาก็เป็นความผิดฐานมีไม้หวงห้ามไว้ในความครอบครองอีกกรรมหนึ่ง ซึ่งศาลต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share