แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินโจทก์ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 แม้ในข้อ 25 ของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวจะบัญญัติให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของแต่ก็ให้นำข้อ 24 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น คำว่า “ชดใช้ค่าเสียหาย” ในข้อ 25 ก็คือ “ค่าทำขวัญ” ตามข้อ 24 นั่นเอง
การที่รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของราษฎรมาให้จำเลยสร้างทางพิเศษนั้น เป็นการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไป เพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรเป็นพิเศษ การที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องจ่ายค่าทำขวัญหรือชดใช้ค่าเสียหายให้กับราษฎร ไม่มีลักษณะเป็นการซื้อขายที่ผู้ถูกเวนคืนที่ดินจะเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายเสมือนหนึ่งว่าเสนอขายต่อเอกชนด้วยกัน เงินค่าทำขวัญหรือเงินชดใช้ค่าเสียหายมิใช่เงินทดแทนความเสียหายตามความจริงโดยสิ้นเชิงแต่เป็นเงินชดเชยที่กำหนดให้โดยคำนึงถึงความจำเป็นของรัฐ ในลักษณะที่เป็นธรรมและเหมาะสมด้วยกันทั้งสองฝ่าย
จำเลยกำหนดเงินชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์โดยอาศัยบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาด เพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในท้องที่เปรียบเทียบกับประกาศราคาปานกลางของที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ โดยถือเอาราคาที่สูงกว่าเป็นเกณฑ์ในการชดใช้ค่าเสียหาย นับว่าจำเลยได้ใช้หลักเกณฑ์ในลักษณะที่เป็นธรรมและเหมาะสมด้วยกันทั้งสองฝ่ายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินรวม ๔ โฉนดอยู่ที่ตำบลปทุมวันอำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ที่ดินของโจทก์บางส่วนถูกเวนคืนโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนฯ เพื่อสร้างทางพิเศษสายดินแดง – ท่าเรือ จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ ๕,๗๘๓.๙๗ บาท แต่โจทก์เห็นว่าค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวต่ำกว่าราคาที่ดินที่แท้จริงและราคาอันเป็นธรรมอยู่อีก ๑๓,๗๘๘,๗๕๐ บาท จึงขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าทดแทนเพิ่มอีก๑๓,๗๘๘,๗๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้เป็นราคาที่เป็นธรรมเหมาะสมแล้วเพราะเป็นราคาซื้อขายในท้องตลาด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินทดแทนให้โจทก์อีก ๙๗๐,๒๕๐บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยว่าค่าทดแทนตามราคาที่เวนคืนต่ำไปหรือไม่ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒๓ วรรคแรก บัญญัติว่า “เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดการสร้างหรือขยายทางพิเศษและปรากฏว่าจำเป็นต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ใดให้ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ” ข้อ ๒๔ บัญญัติเป็นใจความว่าเมื่อใดมีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แล้ว ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และมีผู้มีสิทธิได้รับค่าทำขวัญ ตกลงกันในเรื่องค่าทำขวัญถ้าตกลงกันไม่ได้ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์กำหนดค่าทำขวัญถ้าผู้มีสิทธิได้รับค่าทำขวัญยังไม่ยินยอมตกลงในจำนวนเงินค่าทำขวัญที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวกำหนด ก็มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินส่วนที่ตนเห็นว่าควรจะได้รับต่อศาล และข้อ ๒๕ บัญญัติว่า “ในกรณีที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่คิดว่าจะเวนคืนเพื่อสร้างหรือขยายทางพิเศษและรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดทางสายนั้นเป็นทางที่มีความจำเป็นต้องสร้างหรือขยายโดยเร่งด่วนแล้วให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือ ก.พ. มีอำนาจครอบครองใช้รื้อถอนอสังหาริมทรัพย์ สร้างหรือขยายทางพิเศษนั้นได้ โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่ได้เข้าครอบครองหรือรื้อถอนอสังหาริมทรัพย์แก่เจ้าของ ผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในอสังหาริมทรัพย์นั้น และให้นำข้อ ๒๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลมและให้ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ภายในอายุความของพระราชกฤษฎีกา” เห็นว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพญาไทเขตปทุมวัน ฯลฯ โดยอาศัยประกาศของคณะปฏิวัติข้อ ๒๕ แม้ในข้อ ๒๕ จะบัญญัติว่า ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของก็ตามแต่ก็ให้นำข้อ ๒๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลมดังนั้น คำว่า ชดใช้ค่าเสียหาย ในข้อ ๒๕ ก็คือค่าทำขวัญตามข้อ ๒๔นั่นเอง เห็นว่าการที่รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของราษฎรมาให้จำเลยสร้างทางพิเศษนั้น เป็นการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไป เพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรเป็นพิเศษ การที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องจ่ายค่าทำขวัญหรือชดใช้ค่าเสียหายให้กับราษฎรรวมทั้งโจทก์ที่ถูกเวนคืนที่ดินนั้นไม่มีลักษณะเป็นการซื้อขายที่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนที่ดินจะเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายเสมือนหนึ่งว่าโจทก์เสนอขายที่ดินต่อเอกชนด้วยกัน เงินค่าทำขวัญหรือเงินชดใช้ค่าเสียหายมิใช่เงินทดแทนความเสียหายตามความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง แต่เป็นเงินชดเชยที่กำหนดให้โดยคำนึงถึงความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐในลักษณะที่เป็นธรรมและเหมาะสมด้วยกันทั้งสองฝ่าย ที่จำเลยกำหนดเงินชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์โดยอาศัยบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาด เพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในท้องที่ตามเอกสารหมาย ล.๑ เปรียบเทียบกับประกาศราคาปานกลางของที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ตามเอกสารหมาย ล.๓ โดยถือเอาราคาที่สูงกว่าเป็นเกณฑ์ในการชดใช้ค่าเสียหาย คือสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ติดถนนเพลินจิตลึกจากถนนเข้าไปไม่เกิน ๔๐ เมตร คือตามราคาตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในท้องที่ ส่วนที่ดินของโจทก์นอกจากนี้จำเลยกำหนดให้ตามประกาศราคาปานกลางของที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่จึงนับว่าจำเลยได้ใช้หลักเกณฑ์ในลักษณะที่เป็นธรรมและเหมาะสมด้วยกันทั้งสองฝ่ายแล้ว แต่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนประกาศให้ภายหลังบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในท้องที่ตามเอกสารหมาย ล.๑ เป็นเวลาถึง ๒ ปี และภายหลังประกาศราคาปานกลางของที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ตามเอกสารหมาย ล.๓ ถึง ๑ ปี เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครพยานจำเลยเบิกความว่า บริเวณที่ดินของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ต้องกำหนดราคาขึ้นใหม่ทุก ๓ ปี จึงสมควรกำหนดราคาที่ดินของโจทก์เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยคือที่ติดถนนเพลินจิตลึกเข้าไปไม่เกิน ๔๐ เมตร เพิ่มให้ ๒ ปี ปีละ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ส่วนที่ดินนอกนั้นเพิ่มให้ ๑ ปี ๑๕ เปอร์เซ็นต์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพิ่มขึ้นจากที่จำเลยกำหนดอีก ๑,๔๘๗,๑๘๗.๕๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์