แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มีผลบังคับอย่างกฎหมายและเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้นข้อตกลงที่ตัดสิทธิที่จะพึงได้รับค่าชดเชยของโจทก์ตามประกาศดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับ
หนังสือของจำเลยที่กล่าวถึงการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎและระเบียบของจำเลยและในตอนท้ายของหนังสือได้กล่าวให้โจทก์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎและระเบียบของจำเลยมิฉะนั้นอาจมีการเตือนหรือปลดออกจากงาน ถือว่าเป็นคำเตือนถึงความไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่ตกลงไว้กับจำเลย ยังถือไม่ได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า
จำเลยจ่ายค่าน้ำมันรถให้โจทก์ตามตำแหน่งเป็นประจำทุกเดือนโดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะใช้จ่ายในการนี้หรือไม่และหากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ขายสินค้าได้มากกว่ากำหนดก็จะได้รับค่าน้ำมันรถเพิ่มขึ้น จึงมีลักษณะเป็นการจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงาน ถือได้ว่าเงินค่าน้ำมันรถที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง
จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์มีจำนวนแน่นอนและเป็นประจำทุกเดือน มีลักษณะเป็นการจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานตามปกติของโจทก์เช่นเดียวกับเงินเดือนถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่พนักงานขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓,๓๐๐ บาท ค่าน้ำมันรถเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท ค่าครองชีพเดือนละ ๒๕๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๑๑ และ ๒๖ ของทุกเดือน ต่อมาวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๔ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชยและค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๔ ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน ๑,๑๗๘ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๒๓ วัน จำนวน ๓,๘๗๑ บาท ๖๖ สตางค์ ค่าชดเชย ๑๕,๑๕๐ บาท ให้แก่โจทก์
วันนัดพิจารณาจำเลยแถลงว่า โจทก์ทำสัญญาไว้กับจำเลยว่า ถ้าโจทก์ขายสินค้าไม่ถึง ๗๕ เปอร์เซ็นต์จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามเอกสารหมาย จ.๑ โจทก์ไม่สามารถขายสินค้าได้ตามเป้าหมาย จำเลยจึงมีหนังสือเตือนโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๒ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์แถลงรับว่า ก่อนถูกเลิกจ้างโจทก์ไม่สามารถขายสินค้าให้จำเลยได้ถึง ๗๕ เปอร์เซ็นต์จริง แต่เมื่อเอาผลงานภายในเดือนก่อน ๆ มาเฉลี่ย จะได้ไม่ต่ำกว่า ๗๕ เปอร์เซ็นต์
จำเลยแถลงรับว่า จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างจำนวน ๑,๑๗๘ บาท ให้แก่โจทก์เพราะโจทก์ไม่ไปรับ และโจทก์จำเลยแถลงร่วมกันว่าเงินค่าน้ำมันรถ จำเลยจ่ายให้ตามตำแหน่ง แม้โจทก์ไม่ได้จ่ายค่าน้ำมันรถโจทก์ก็มีสิทธิได้รับค่าน้ำมันรถ ถ้าโจทก์ขายสินค้าได้มากกว่ากำหนดจะได้รับค่าน้ำมันรถมากกว่าเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท ค่าครองชีพเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทุกเดือนในวันสิ้นเดือน ส่วนค่าจ้างจ่ายทุกวันที่ ๑๑ และ ๒๖ ของเดือนและต่างแถลงไม่สืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อความตามเอกสารหมาย จ.๑ ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๖, ๔๗ ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๔ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ เงินค่าน้ำมันรถ และค่าครองชีพเป็นค่าจ้าง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างชำระจำนวน ๑,๑๗๘ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๒,๕๓๐ บาท ค่าชดเชยจำนวน ๑๕,๑๕๐ บาท รวมจำนวน ๑๘,๘๕๘ บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามสัญญาว่าจ้างทำงานระหว่างโจทก์จำเลยเอกสารหมาย จ.๑ มีความว่า ข้าพเจ้าจะต้องขายได้ตามเป้าหมายที่บริษัทฯ ตั้งไว้แต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า ๗๕ เปอร์เซ็นต์ หากข้าพเจ้าขายไม่ได้ถึงยอดดังกล่าวข้าพเจ้าจะพิจารณาตนเองหรือหากว่าบริษัทฯ เลิกจ้างข้าพเจ้าทำงานต่อไปอีก ข้าพเจ้าจะไม่เรียกร้องค่าชดเชยในการเลิกจ้างแต่ประการใด แต่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๖ กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้าง ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานนี้มีผลบังคับอย่างกฎหมายและเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้เฉพาะกรณีต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ซึ่งแก้ไขแล้วข้อ ๔๖ วรรคท้าย และ ๔๗ เท่านั้นกรณีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวมิได้อยู่ในข่ายที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แต่อย่างใด เป็นข้อตกลงที่ตัดสิทธิที่จะพึงได้รับค่าชดเชยของโจทก์ อันเป็นการขัดกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๖ จึงไม่มีผลบังคับ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เมื่อเลิกจ้าง
ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.๒ เพื่อบอกกล่าวให้โจทก์ทราบแล้วหนังสือดังกล่าวมีข้อความต่าง ๆ แจ้งให้โจทก์ทราบถึงขั้นตอนเกี่ยวกับการเลิกข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยไว้ครบถ้วน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์นั้น เห็นว่าหนังสือตามเอกสารหมาย จ.๒ ที่จำเลยมีถึงโจทก์มีความว่า ตามกฎและระเบียบของบริษัทซึ่งคุณปฏิบัติงานในหน้าที่พนักงานการขายของคุณจะต้องดำเนินการขายให้ได้ ๗๕ เปอร์เซ็นต์จึงจะปฏิบัติได้ถูกต้องตามระเบียบของบริษัท นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๔ ที่ผ่านมานี้ การปฏิบัติงานในหน้าที่ของคุณไม่สามารถทำได้ถึงกำหนด จึงเป็นการผิดกฎและระเบียบที่คุณรับทราบไว้ ฯลฯ และมีความต่อไปว่า ภายหลังจากเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม หรือกันยายน ๒๕๒๔ ในเดือนใด หากผลการขายและการปฏิบัติงานของคุณไม่สามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบของบริษัทฯ อาจมีการเตือนคุณอีกครั้งหรือปลดคุณออกจากพนักงานของบริษัทในเดือนใดเดือนหนึ่งระหว่าง ๓ เดือนข้างหน้า ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นคำเตือนถึงความไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ตามที่ตกลงไว้กับจำเลยและผลที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปภายหน้าเท่านั้น ซึ่งถึงแม้ผลยังไม่เป็นที่พอใจจำเลย จำเลยอาจจะเตือนโจทก์อีกโดยไม่ปลดโจทก์ก็ได้ จึงถือไม่ได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า
ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่าเงินค่าน้ำมันรถและค่าครองชีพมิใช่ค่าจ้าง จึงนำมาเป็นฐานกำหนดค่าชดเชยไม่ได้นั้น เห็นว่าค่าน้ำมันรถเป็นเงินที่จ่ายให้ตามตำแหน่งเป็นประจำทุกเดือนโดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะใช้จ่ายในการนี้หรือไม่ ยิ่งกว่านั้นหากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ดีขายสินค้าได้มากกว่ากำหนดก็จะได้รับค่าน้ำมันรถเพิ่มขึ้น อันมีลักษณะเป็นการจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงาน จึงถือได้ว่าเงินค่าน้ำมันรถที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ส่วนค่าครองชีพนั้น เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนและเป็นประจำทุกเดือนมีลักษณะเป็นการจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานตามปกติของโจทก์เช่นเดียวกับเงินเดือน ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ จึงต้องนำเงินค่าน้ำมันรถและค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยด้วย
พิพากษายืน