แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลการลงโทษผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฯ อันเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ซึ่งจำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องจัดให้มีการประกาศกระทรางมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน กำหนดไว้ว่า กรณีลูกจ้างขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาไม่ไปปฏิบัติงานและขาดงานมีโทษให้ไล่ออกจากงาน ข้อนี้มิได้ระบุว่าต้องขาดงานกี่วันจึงจะมีความผิด ดังนั้น หากโจทก์ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาไม่ไปปฏิบัติงานและขาดงานแม้เพียง 1 วัน ก็มีความผิดและถูกลงโทษให้ออกจากงานได้ กรณีนี้เป็นเรื่องที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานฯ ตามข้อ 47 (3) แห่งประกาศดังกล่าว มิใช่เป็นเรื่องนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามข้อ 47 (4) ฉะนั้น ประมวลการลงโทษฯ จึงหาได้ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่กำหนดว่าลูกจ้างต้องขาดงานติดต่อกัน 3 วันไม่
โจทก์เคยถูกลงโทษภาคทัณฑ์และตัดเงินเดือนแล้ว 3 ครั้ง ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบ ซึ่งตามคำสั่งลงโทษมีข้อความอันถือได้ว่าได้มาตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เมื่อโจทก์มากระทำผิดฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบอีก และได้เคยตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิให้โจทก์ออกจากงานอันเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ กรณีหาใช่วินิจฉัยนอกประเด็นหรือนำความผิดที่ลงโทษเสร็จสิ้นไปแล้วมาลงโทษอีกไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งช่างเครื่อง ต่อมาจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างว่าขัดคำสั่งไม่ปฏิบัติงานและขาดงานรวม ๑๐ วัน ซึ่งไม่เป็นความจริงจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม และจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หรือให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยกระทำผิดวินัยฐานละทิ้งหน้าที่ รายงานเท็จ ลาป่วยผิดระเบียบและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบจนถูกลงโทษภาคทัณฑ์ และตัดเงินเดือนมาแล้วหลายครั้งต่อมาผู้บังคับบัญชาสั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงานที่อื่น กับสั่งให้โจทก์ลงชื่อในสมุดลงนามพนักงาน ปรากฏว่าโจทก์ไม่ยอมลงชื่อ ไม่ปฏิบัติงานให้ครบตามกำหนดเวลารวม ๘ วัน และขาดงานรวม ๑๒ วัน อันเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์ถูกตั้งกรรมการสอบสวน คณะกรรมการรายงานว่าโจทก์กระทำผิดวินัยฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาและขาดงานจริง โจทก์จึงถูกลงโทษให้ออกตามประมวลการลงโทษผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยฯ การที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายนั้น จำเลยก็ได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว แล้วโจทก์ขาดงาน ๓ วันติดต่อกัน จำเลยจึงไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจท์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประมวลการลงโทษผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยฯ เป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัยซึ่งจำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องจัดให้มีตามข้อ ๖๘ (๖) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ตามประมวลการลงโทษฯ ข้อ ๒.๔๓ กำหนดไว้ว่า กรณีลูกจ้างขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาไม่ไปปฏิบัติงานและขาดงาน มีโทษให้ออกจากงาน ข้อบังคับมิได้ระบุว่าต้องขาดงานกี่วันจึงจะมีความผิด ดังนั้น หากโจทก์ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาไม่ไปปฏิบัติงานและขาดงานแม้เพียง ๑ วัน ก็มีความผิดและถูกลงโทษให้ออกจากงานได้ ที่โจทก์อ้างว่าลูกจ้างขาดงานติดต่อกัน ๓ วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงจะมีโทษให้ออกได้นั้นเป็นที่เรื่องที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามข้อ ๔๗ (๔) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ แต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง ฯลฯ ตามข้อ ๔๗ (๓) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ฉะนั้น ประมวลการลงโทษฯ ข้อ ๒.๔๓ จึงหาได้ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่
โจทก์เคยถูกลงโทษภาคทัณฑ์และตัดเงินเดือนมาแล้ว ๓ ครั้ง ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบ ซึ่งตามคำสั่งลงโทษมีข้อความอันถือว่าได้ตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้ว เมื่อโจทก์มากระทำผิดฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบอีก และได้ตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้วจำเลยจึงมีสิทธิให้โจทก์ออกจากงานอันเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ กรณีหาใช่วินิจฉัยนอกประเด็นหรือนำความผิดที่ลงโทษเสร็จสิ้นไปแล้วมาลงโทษอีกไม่
พิพากษายืน