แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีจะปรับเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุก พ.ศ. 2514 มาตรา 19,30 ข้อเท็จจริงจะต้องปรากฏชัดว่าผู้ขายแร่เป็นผู้ทำเหมือง
การที่จำเลยซื้อแร่โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแร่ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีแร่ไว้ในครอบครองตามใบอนุญาตซื้อแร่ จึงไม่ต้องฟ้องด้วยข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 105 (6) พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 มาตรา 31
แร่ของกลางจำเลยได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 147,148 จึงต้องริบตามมาตรา 154 พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 มาตรา 39
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่เงป็นตัวแทนของบริษัทสหะแร่ไทยภาคใต้ จำกัด ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ ได้ซื้อแร่ดีบุกจำนวน ๖๐๐ กิโลกรัม คิดเป็นเงิน ๕๕,๐๐๐ บาท จากผู้ขายแร่ โดยผู้ขายไม่ได้มอบเอกสารให้แก่จำเลยเพื่อแสดงว่าเป็นแร่ที่ได้มาโดยประทานบัตรชนิดใด หรือเพื่อแสดงว่าแร่ที่ขายเป็นแร่ของผู้ขายที่เป็นผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ กับรับซื้อแร่ดีบุก จากผู้ขายแร่ที่ผู้ขายไม่ได้แสดงใบอนุญาตร่อนแร่ และยังได้ซื้อแร่ดีบุกจากผู้ทำเหมืองที่ขายโดยไม่มีใบสุทธิแร่ และจำเลยมีแร่ดีบุกจำนวน ๖๐๐ กิโลกรัม เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ในครอบครอง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๙๘,๑๐๕,๑๔๗,๑๔๘,๑๕๔,๑๕๕ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๑๖ มาตรา ๒๘,๓๑,๓๙,๔๐ พระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุก พ.ศ. ๒๕๑๔ มาตรา ๑๙,๓๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ริบของกลางจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัล
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๙๘,๑๐๕,๑๔๗,๑๔๘,๑๕๔,๑๕๕ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๑๖ มาตรา ๒๘,๓๑,๓๙,๔๐ พระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุก พ.ศ. ๒๕๑๔ มาตรา ๑๙,๓๐ ความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๙๘ และพระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุก พ.ศ. ๒๕๑๔ มาตรา ๑๙ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทมีโทษเท่ากัน ลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๔๗ ปรับ ๑,๐๐๐ บาท และจำเลยผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๐๕ ลงโทษตามมาตรา ๑๔๘ อีกบทหนึ่งปรับ ๒,๐๐๐ บาท รวมโทษปรับ ๓,๐๐๐ บาท ของกลางริบ จ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลร้อยละห้าสิบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีแร่ดีบุกของกลางน้ำหนักประมาณ ๖๐๐ กิโลกรัม โดยผิดกฎหมายแล้ววินิจฉัยว่า แร่ดีบุกของกลางไม่ปรากฏจำนวนตามบัญชีสต๊อค ไม่มีหลักฐานการซื้อมาในบัญชีซื้อแร่ ไม่มีเอกสารที่ผู้ขายมอบให้เพื่อแสดงว่าเป็นแร่ที่ผู้ขายมีอำนาจขายได้ตามที่กฎหมายบังคับ การซื้อแร่ของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๙๘ พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ มาตรา๒๘ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๔๗ และโดยที่จำเลยมีแร่ไว้ในครอบครองเกินสองกิโลกรัม จึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๐๕ พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ มาตรา ๓๑ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๔๘ ด้วย ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุก พ.ศ. ๒๕๑๔ มาตรา ๑๙,๓๐ นั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏชัดว่าผู้ขายแร่เป็นผู้ทำเหมืองจะปรับเป็นความผิดฐานนี้ยังไม่ได้
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีใบอนุญาตซื้อแร่และแร่ของกลางอยู่ในสถานที่ซื้อแร่ จึงเข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๐๕ (๖) จำเลยไม่ควรมีความผิดตามมาตรา ๑๔๘ นั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๐๕ (๖) พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ มาตรา ๓๑ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดมีแร่ไว้ในครอบครองแต่ละชนิดเกินสองกิโลกรัม เว้นแต่ ฯลฯ (๖) ในสถานที่ซื้อแร่ตามใบอนุญาตซื้อแร่ การที่จำเลยซื้อแร่โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแร่ ย่อมถือไม่ได้จำเลยมีแร่ไว้ในครอบครองตามใบอนุญาตซื้อแร่ กรณีของจำเลยหาต้องด้วยข้อยกเว้นไม่ แร่ของกลางจำเลยได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๑๔๗,๑๔๘ จึงริบตามมาตรา ๑๕๔ พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖ มาตรา ๓๙
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุก พ.ศ. ๒๕๑๔ มาตรา ๑๙,๓๐ เสีย นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.