คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2593/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มิได้เป็นแพทย์และมิได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ จัดให้มีการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคหลายชนิดให้หายได้ ประชาชนหลงเชื่อได้พากันไปรับรักษาโรคต่าง ๆ กับจำเลยที่ 1 วันละประมาณ 50 – 60 คน แต่ไม่หาย เพราะจำเลยที่ 1 มิได้รักษาโรคตามวิธีที่ถูกต้อง ในการรักษาดังกล่าวจำเลยคิดค่ารักษาคนละ 59 บาท ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน และได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากการหลอกลวง จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
ผู้ตายเป็นโรคน้ำเลี้ยงสมองโป่งพอง มีเนื้อโป่งพองที่ดั้งจมูกมาแต่กำเนิดมารดาพาไปให้จำเลยที่ 1 รักษา จำเลยที่ 1 ใช้เข็มฉีดยาเจาะเนื้อที่โป่งพองแล้วเป่าพ่นด้วยน้ำลาย เมื่อเจาะแล้วมีน้ำใส ๆ ไหลออกมาจากรูที่เจาะไม่หยุด กับมีอาการซูลซีดลงและอ่อนเพลีย หลังจากนั้นอีก 6 วันก็ถึงแก่ความตาย ดังนี้ ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๑๙ ถึงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๑๙ จำเลยทุกคน (๑๒ คน) ได้ปลูกกระต๊อบประมาณ ๑๐ หลังขึ้นในป่าช้าทำเป็นเรือนอาศัยและเรือนรักษาคนไข้ แล้วจำเลยได้พูดโฆษณาต่อประชาชนว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหมอวิเศษสามารถรักษาโรคอัมพาตและโรคต่าง ๆ หลายชนิดให้หายได้อันเป็นความเท็จความจริงจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่หมอวิเศษและไม่สามารถรักษาโรคตามที่โฆษณาอวดอ้าง การหลอกลวงดังกล่าวทำให้ประชาชนหลงเชื่อไปทำการรักษากับจำเลยเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น ๖๖๑ คน รวมทั้งผู้เสียหาย ๔ คนในคดีนี้ด้วย จำเลยคิดเงินค่ายกครู (ค่ารักษา) คนละ ๕๖ บาทบ้าง ๕๙ บาทบ้าง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๓๘,๙๙๙ บาท และต่อมาวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นนายแพทย์และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ ได้ทำการตรวจและรักษาเด็กชายประดิษฐ์ สิงห์ทอง ผู้ตายซึ่งเป็นโรคน้ำเลี้ยงสมองโป่งพอง จำเลยที่ ๑ กระทำการโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังโดยใช้ปลายเข็มฉีดยาแทงเข้าไปที่ดั้งจมูกของผู้ตายแล้วเป่าพ่นด้วยน้ำลาย เป็นเหตุให้น้ำเลี้ยงสมองของผู้ตายไหลออกมาจากรูเข็มแทงไม่หยุดและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จำเลยอาจใช้ความระมัดระวังได้แต่หาได้ให้เพียงพอไม่ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓, ๘๓ และ ๒๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ ที่ ๑๐ และที่ ๑๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๓ และจำเลยที่ ๑ คนเดียวผิดตามมาตรา ๒๙๑ อีกกระทงหนึ่ง ลงโทษจำคุกคนละ ๖ เดือนเว้นแต่จำเลยที่ ๑ ลงโทษตามมาตรา ๒๙๑ จำคุก ๓ ปี รวมเป็น ๓ ปี ๖ เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยอื่น
จำเลยที่ ๑ และที่ ๑๐ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ผู้เดียวฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาผู้ตัดสิน
ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ทำการรับรักษาคนป่วยโดยมิได้เป็นแพทย์ เรียกค่ารักษารวมทั้งค่าธูปเทียนคนละ ๕๙ บาท และมีการโฆษณาว่าจำเลยที่ ๑ รักษาหายมามากแล้ว จำเลยที่ ๑ มีวิธีรักษาโดยใช้มีดกรีดให้เป็นแผลแล้วเย็บด้วยเข็มและด้ายธรรมดาแล้วเป่า พ่นด้วยน้ำลาย ใช้เข็มแทงเข้าไปบริเวณที่เจ็บปวดแล้วเป่าพ่นด้วยน้ำลายให้จำเลยอื่นเอาส้นเท้าจุ่มน้ำมันหมูแล้วนำไปอังเหล็กที่เผาไฟนำมาเหยียบนวดที่ร่างกายคนป่วย ซึ่งไม่ใช่เป็นการรักษาตามวิชาแพทย์แผนโบราณหรือแผนปัจจุบัน และเป็นการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ผู้เสียหายก็มิได้หายจากโรคที่เป็นอยู่เพราะการรักษาของจำเลยที่ ๑ เมื่อมีการเก็บเงินด้วยเช่นนี้การกระทำของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมิใช่แพทย์ มิได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะมาทำการรักษาคนป่วยเช่นนี้ จึงเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถรักษาคนป่วยให้หายจากโรคได้ และจากการหลอกลวงดังกล่าวจำเลยที่ ๑ ได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือเงินจากคนป่วย การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ และการหลอกลวงของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวได้กระทำด้วยการโฆษณาต่อประชาชน มีคนป่วยมารับการรักษาวันละประมาณ ๕๐ – ๖๐ คน แสดงว่าคนป่วยมารับการรักษาเพราะมีการโฆษณาต่อประชาชนถึงความสามารถของจำเลยที่ ๑ การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓
ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยที่ ๑ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เด็กชายประดิษฐ์ สิงห์ทอง ถึงแก่ความตายหรือไม่นั้น ได้ความว่าเด็กชายประดิษฐ์เป็นโรคน้ำหล่อเลี้ยงสมองโป่งพอง มีเนื้อโป่งพองที่ดั้งจมูกมาแต่กำเนิด แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโต เด็กชายประดิษฐ์ร่างกายแข็งแรงดี จำเลยได้ให้การรักษาโดยใช้เข็มฉีดยาเจาะเนื้อที่โป่งพอง และเป่าพ่นด้วยน้ำลาย เมื่อเจาะมาแล้วมีน้ำใส ๆ ไหลออกมาตามรูเข็มที่เจาะไม่หยุด เด็กชายประดิษฐ์ซูบซีดและถึงแก่ความตายในเวลาอีก ๖ วันต่อมา เพราะสมองขาดน้ำเลี้ยง การที่จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่แพทย์และไม่มีความรู้ทางแพทย์มาทำการรักษาด้วยวิธีการอันไม่ถูกต้องตามหลักวิชาแพทย์ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เด็กชายประดิษฐ์ถึงแก่ความตาย จีงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ อีกกระทงหนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share