คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2568/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาก่อสร้างตึกแถวมีข้อความว่า ผู้ก่อสร้าง (จำเลย) ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการขับไล่ผู้อาศัยที่ยังเหลืออยู่อีกสองรายในที่ดิน ส่วนที่ผู้ให้ก่อสร้าง (โจทก์) ชนะคดีแล้วนั้น ผู้ให้ก่อสร้างรับผิดชอบขับไล่ให้โดยบังคับคดีภายใน 20 วันนับแต่วันทำสัญญาดังนี้ เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำแถลงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการบังคับคดีแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีให้ผู้เช่าออกจากตึกแถวแล้วตามสัญญา มิได้หมายความว่าโจทก์จะต้องขับไล่ผู้เช่าออกไปจากตึกแถวภายใน 20 วันนับแต่วันทำสัญญา ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นได้ว่าการทำสัญญาก่อสร้างระหว่างโจทก์จำเลยมิได้มุ่งเรื่องเวลาเป็นข้อสารสำคัญ หากแต่มีเจตนาผ่อนปรนซึ่งกันและกันตามสมควร
ในกรณีผิดสัญญา สิทธิของคู่สัญญาที่จะบังคับเอาแก่คู่สัญญาฝ่าที่ผิดสัญญานั้นมีอยู่สองประการ คือ บังคับให้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามมูลหนี้ประการหนึ่ง กับบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายอีกประการหนึ่ง คดีนี้โจทก์อ้างว่าถ้าจำเลยสร้างตึกแถวเสร็จโจทก์จะได้กรรมสิทธิ์และได้ค่าเช่านั้น เท่ากับโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิแต่การที่จำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะได้รับค่าหน้าดินตามสัญญา ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้จึงควรเท่ากับจำนวนเงินดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากับโจทก์เพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ลงในที่ดินของโจทก์ โดยจำเลยเป็นฝ่ายออกเงินค่าก่อสร้างและตกลงให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์อีก ๑๓๑,๐๐๐ บาท อาคารที่ก่อสร้างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทันที ต่อมาจำเลยผิดสัญญาหลบหายไปเป็นเวลาเกือบสองปีจึงมาติดต่อกับโจทก์ โดยไม่ได้เตรียมการต่าง ๆ เพื่อทำการก่อสร้างอาคารตามสัญญา และไม่ได้จ่ายเงินค่าหน้าดินงวดที่ ๒ ให้โจทก์ โจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา ทำให้โจทก์เสียหายและขาดประโยชน์ คือ เงินค่าหน้าดิน ค่าเช่าอาคาร ค่าขาดประโยชน์จากการได้อาคารเป็นกรรมสิทธิ์ รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๓๖๘,๒๐๐ บาทจึงขอให้จำเลยชำระ
จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญากับโจทก์ตามฟ้อง แต่เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องจัดให้ผู้อาศัยหรือผู้เช่าเดิมออกจากที่ดินเสียก่อน โจทก์รับรองว่าจะให้จำเลยเข้าไปอยู่ในตึกแถวจำนวน ๓ คูหา เมื่อได้ขับไล่ผู้อยู่อาศัยเดิมออกไปแล้วและมอบสิทธิให้จำเลยขับไล่ผู้อยู่รายอื่นต่อไป แต่โจทก์ไม่อาจมอบตึกแถว ๓ คูหา ให้จำเลยเข้าไปอยู่เพื่อขับไล่ผู้อยู่อีก ๒ คูหา จำเลยจึงไม่สามารถเข้าทำการรังวัดทำแผนผังแบบแปลนการก่อสร้างได้ จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากโจทก์ โจทก์ไม่เสียหายดังฟ้อง ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ค่าเช่า และไม่มีสิทธิได้รับอาคารพาณิชย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาก่อสร้างข้อ ๙ มีข้อความว่า ผู้ก่อสร้าง (จำเลย) ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการขับไล่ผู้อยู่อาศัยที่ยังเหลืออยู่อีกสองรายในที่ดิน ส่วนที่ผู้ให้ก่อสร้าง (โจทก์) ชนะคดีแล้วนั้น ผู้ให้ก่อสร้างรับผิดชอบขับไล่ให้โดยบังคับคดีภายใน ๒๐ วันนับแต่วันทำสัญญา ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำแถลงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการบังคับคดีแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีให้ผู้เช่าออกจากตึกแถวแล้วตามสัญญา มิได้หมายความว่าโจทก์จะต้องขับไล่ผู้เช่าออกไปจากตึกแถวภายใน ๒๐ วันนับแต่วันทำสัญญา ทั้งนี้เนื่องจากเห็นได้ว่าการทำสัญญาก่อสร้างระหว่างโจทก์จำเลยมิได้มุ่งเรื่องเวลาเป็นข้อสารสำคัญ หากแต่โจทก์มีเจตนาผ่อนปรนซึ่งกันและกันตามสมควร ที่จำเลยอ้างว่าไม่สามารถรังวัดออกแบบแปลนเพื่อจัดการก่อสร้างได้เพราะตึกแถวเก่ากีดขวาง จึงเนื่องจากจำเลยไม่ดำเนินการให้ผู้เช่าออกไปจากตึกแถวอันเป็นความผิดของจำเลย จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ในกรณีผิดสัญญา สิทธิของคู่สัญญาที่จะบังคับเอาแก่คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญานั้นมีอยู่สองประการ คือ บังคับให้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามมูลหนี้ประการหนึ่งกับบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายอีกประการหนึ่ง คดีนี้โจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้วย่อมจะบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาไม่ได้ การที่โจทก์อ้างว่าถ้าจำเลยสร้างตึกแถวเสร็จโจทก์จะได้กรรมสิทธิ์และได้ค่าเช่านั้น เท่ากับโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิ แต่การที่จำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะได้รับค่าหน้าดินตามสัญญา ๒ งวด เป็นเงิน ๖๑,๐๐๐ บาทค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้จึงควรเท่ากับจำนวนเงินดังกล่าว
พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๖๑,๐๐๐ บาท

Share