คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2044/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยเมื่อรับสารภาพแล้วมีกำหนด 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ไม่รอการลงโทษจำคุก จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกจำเลย เป็นการฎีกาคัดค้านดุลพินิจของศาลอุทธรณ์อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2517 มาตรา 6 เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรสู่ศาลสูงสุดจะได้รับวินิจฉัย จึงให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 และข้อความที่ว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด” นั้น หมายถึงข้อความที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด หรือมิฉะนั้นก็จะต้องเป็นข้อความซึ่งมีปัญหาสำคัญอันจำเป็นที่ควรจะได้รับการวินิจฉัยกลั่นกรองจากศาลสูงสุดเป็นพิเศษอีกชั้นหนึ่ง เมื่อจำเลยฎีกาเพียงขอให้รอการลงโทษจำเลยอย่างเดียวเท่านั้น โดยยกเหตุผลต่าง ๆ ขึ้นอ้าง ซึ่งไม่ปรากฏมีในศาลชั้นต้นจึงมิใช่เป็นการฎีกาในปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด แม้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาได้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนพกสั้นชนิดทำเอง ๑ กระบอกและเครื่องกระสุนปืนจำนวน ๑ นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๓ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๖ ให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้จำคุก ๖ เดือน ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษารอการลงโทษให้แก่จำเลยโดยผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาคดีมีความเห็นว่า ฎีกาของจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะรับการพิจารณาจากศาลสูงสุด จึงอนุญาตให้จำเลยฎีกาได้
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยเมื่อรับสารภาพแล้วมีกำหนด ๖ เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ไม่รอการลงโทษจำคุก ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยเป็นการฎีกาคัดค้านดุลพินิจของศาลอุทธรณ์อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๖ เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด และอนุญาตให้ฎีกาหรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรสู่ศาลสูงสุดจะได้รับวินิจฉัย จึงให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๑ และข้อความที่ว่า “ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด” นั้น หมายถึงข้อความที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด หรือมิฉะนั้นก็จะต้องเป็นข้อความซึ่งมีปัญหาสำคัญอันจำเป็นที่ควรจะได้รับการวินิจฉัยกลั่นกรองจากศาลสูงสุดเป็นพิเศษอีกชั้นหนึ่ง แต่คดีนี้จำเลยฎีกาเพียงขอให้รอการลงโทษจำเลยอย่างเดียวเท่านั้นโดยยกเหตุผลต่าง ๆขึ้นอ้าง ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีในศาลชั้นต้นจึงมิใช่เป็นการฎีกาในปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด แม้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาได้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาจำเลย.

Share