แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เป็นหน้าที่ของจำเลยต้องนำสืบตามข้อต่อสู้ว่าโจทก์ได้ขาดจากการเป็นสามีภริยากับเจ้ามรดกแล้ว เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานว่าเจ้ามรดกขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 อันเป็นวันที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง บรรพ 5 และเมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง บรรพ 5 แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์กับเจ้ามรดกทำหนังสือยินยอมหย่ากัน หรือศาลพิพากษาให้หย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1497, 1498 จึงต้องถือว่าโจทก์กับเจ้ามรดกยังคงเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายตลอดมา
ในการชี้สองสถาน ศาลมิได้กะประเด็นเรื่องภริยาร้างไว้ และจำเลยมิได้โต้แย้ง ถือได้ว่าจำเลยยินยอมดำเนินกระบวนพิจารณาเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นไว้เท่านั้น จำเลยฎีกาว่าโจทก์เป็นภริยาร้าง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ก่อนวันประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และต่างมีสินเดิมด้วยกัน เกิดสินสมรสเป็นเงินจำนวนหนึ่ง แต่เจ้ามรดกได้ให้จำเลยซึ่งเป็นนางบำเรอลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแทนเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้จำเลยเกินส่วนของตนในสินบริคณห์โจทก์ให้จำเลยส่งทรัพย์ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับจำเลยแบ่งทรัพย์ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่าโจทก์มีสัมพันธ์ทางชู้สาวกับเจ้ามรดก แต่เจ้ามรดกไม่ได้รับรองเลี้ยงดูโดยเปิดเผยฉันเป็นภริยาอันจะถือว่าเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มิเคยแสดงตัวว่าเป็นภริยาหรือติดต่อเกี่ยวข้องกับเจ้ามรดกจนถึงวันตายในเวลา ๕๐ ปี ดังนั้นแม้จะฟังว่าโจทก์เป็นภริยาเจ้ามรดก ก็ต้องถือว่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้วหรือร้างกัน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกจนเจ้ามรดกตายโจทก์และเจ้ามรดกต่างมีสินเดิมมาด้วยกัน โจทก์มีสิทธิแบ่งสินสมรสมีที่ดินและเงินฝากในธนาคาร พิพากษาให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์หนึ่งในสาม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ใช่ภริยาชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ถ้าหากเป็นก็ร้างกันไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้ส่วนแบ่งสินสมรสเงินฝากในธนาคารส่วนที่ดินจำเลยออกเงินซื้อแต่ผู้เดียว
ศาลฎีกาฟังว่าโจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ โจทก์ขาดจากการเป็นสามีภริยากับเจ้ามรดกแล้วหรือไม่ เป็นหน้าที่ของจำเลยต้องนำสืบ แต่จำเลยหามีพยานหลักฐานสนับสนุนว่าเจ้ามรดกได้ขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๘ อันเป็นวันที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ไม่และเมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์กับเจ้ามรดกได้ทำหนังสือยินยอมหย่ากัน หรือศาลพิพากษาให้หย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๙๗, ๑๔๙๘ ซึ่งใช้บังคับขณะนั้น จึงต้องถือว่าโจทก์กับเจ้ามรดกยังคงเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายตลอดมา เจ้ามรดกได้เสียกับจำเลยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๔๙๐ แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ที่พิพาทได้มาระหว่างที่โจทก์กับเจ้ามรดกยังเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ เจ้ามรดกและจำเลยได้ร่วมกันซื้อที่พิพาทไว้จึงมีกรรมสิทธิ์คนละครึ่ง สำหรับเงินฝากในธนาคารจำเลยมิได้ต่อสู้ว่าไม่ใช่สินสมรส โจทก์จึงมีส่วนได้ในเงินดังกล่าวหนึ่งในสามตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ที่จำเลยฎีกาว่าเป็นภริยาร้าง ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างนี้ไม่เป็นสินสมรสนั้น เห็นว่าจำเลยให้การต่อสู้ไว้ด้วยว่าโจทก์และเจ้ามรดกขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้วหรือร้างกัน แต่ในการชี้สองสถาน ศาลมิได้กะประเด็นเรื่องภริยาร้างไว้และจำเลยมิได้โต้แย้ง ถือได้ว่าจำเลยยินยอมดำเนินกระบวนพิจารณาเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นไว้เท่านั้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้ให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์หนึ่งในหก นอกนั้นคงไว้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์