คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 977/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทและเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกคำสั่งให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งในนามบริษัทและต้องรับผิดชอบร่วมกับบริษัทอยู่แล้ว แม้บริษัทดังกล่าวจะแบ่งงานออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ มีผู้รับผิดชอบใน แต่ละฝ่ายก็เป็นเรื่องการแบ่งงานภายในของบริษัทเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะไม่อยู่ปฏิบัติงานที่บริษัทก็ตาม ก็หาปฏิเสธความรับผิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่บริษัทที่ตนเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบได้ไม่
ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 79 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจที่จะเปรียบเทียบได้ มิใช่เป็นบทบังคับให้ คณะกรรมการต้องดำเนินการเปรียบเทียบเพียงอย่างเดียวไม่ เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวใช้ดุลพินิจไม่เปรียบเทียบก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะพึงกระทำได้ ทั้งการที่คณะกรรมการดังกล่าวไม่ยอมเปรียบเทียบก็หาขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 144 ไม่ เพราะการเปรียบเทียบกรณีนี้มิได้อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการจึงสั่งให้พนักงานสอบสวนพยายามเปรียบเทียบไม่ได้
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก ซึ่งเป็นกรรมการให้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท ตามบทมาตราต่าง ๆ และมาตรา 75 วรรคหนึ่งและวรรคสองแห่ง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งมาตรา 75 วรรคหนึ่งบัญญัติให้รับผิดมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ส่วนวรรคสอง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองถึงห้าปี และตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) บัญญัติถึงความผิดที่ต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปีให้มีอายุความสิบปีนับแต่วันกระทำความผิด ดังนี้ เมื่อนับตั้งแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับบริษัทระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2531 โดยโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2539 ยังไม่ถึงสิบปี ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๒๒ ทวิ, ๒๔, ๒๘, ๓๕, ๕๗, ๗๐ และ ๗๕ ป.อ. มาตรา ๘๓, ๙๑ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดอัตราส่วนของเงินที่บริษัทเงินทุนให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งและหรือลงทุนในกิจการของบุคคลนั้นกับเงินกองทุนของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๓ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๔ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดหลักประกันเป็นทรัพย์สินที่บริษัทเงินทุนต้องเรียก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๗ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๗ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดหลักประกันเป็นทรัพย์สินที่ บริษัทเงินทุนต้องเรียก (ฉบับที่ ๕) ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๓๐
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๒ ทวิ, ๒๔, ๒๘, ๓๕ วรรคหนึ่ง, ๕๗ วรรคหนึ่ง, ๗๐, ๗๕ วรรคหนึ่ง วรรคสอง ป.อ. มาตรา ๘๓… จำเลยที่ ๒ มีความผิดตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๔, ๒๘, ๕๗ วรรคหนึ่ง, ๗๐, ๗๕ วรรคหนึ่ง วรรคสอง ป.อ. มาตรา ๘๓…
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด จดทะเบียนเป็น นิติบุคคลตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เคยเป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวและความผิดที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยคดีนี้ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด ได้ยอมรับผิดโดยยอมให้คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งทำการเปรียบเทียบแล้ว… มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ใช่กรรมการผู้รับผิดชอบตามมาตรา ๗๕ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้ทำงานประจำที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด เมื่อมีการประชุมจึงจะมาร่วมประชุม ไม่มีหน้าที่ต้องรายงานการดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัทต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะบริษัทดังกล่าวแบ่งงานออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ มีผู้จัดการรับผิดชอบและในช่วงเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ก็เดินทางไป ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และเดินทางไปหาเสียงที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงไม่ต้องรับผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวมีหน้าที่ในการบริหารงานต่าง ๆ ของบริษัทดังกล่าวให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ทั้งเป็นผู้ลงนามลายมือชื่อรับทราบคำสั่งต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกคำสั่งให้บริษัทดังกล่าวปฏิบัติตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นกรรมการย่อมจะมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งในนามของบริษัท และต้องรับผิดชอบร่วมกับบริษัทดังกล่าวอยู่แล้ว แม้บริษัทดังกล่าวจะแบ่งงานออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ มีผู้รับผิดชอบในแต่ละฝ่ายก็เป็นเรื่องการแบ่งงานภายในของบริษัทเท่านั้น และแม้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะไม่อยู่ปฏิบัติงานที่บริษัทดังกล่าวก็ตาม ก็หาปฏิเสธความรับผิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่บริษัทดังกล่าวที่ตนเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบบริหารงานของบริษัทได้ไม่
ที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกาอ้างว่าตามที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีหนังสือถึงพนักงานอัยการให้เปรียบเทียบ พนักงานสอบสวนจึงส่งเรื่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเปรียบเทียบ แต่คณะกรรมการเปรียบเทียบไม่ยอมเปรียบเทียบตามมาตรา ๗๙ แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว การที่คณะกรรมการดังกล่าวไม่ยอมเปรียบเทียบ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๔ พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นคดีนี้นั้น เห็นว่า ตามมาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า “ความผิดตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๕ ให้คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้” เห็นได้ว่าบทบัญญัติตาม มาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง ให้อำนาจคณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจที่จะเปรียบเทียบได้ หาใช่บทบังคับให้ คณะกรรมการต้องดำเนินการเปรียบเทียบเพียงอย่างเดียวไม่ เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวใช้ดุลยพินิจไม่เปรียบเทียบ ก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะพึงกระทำได้ ทั้งการที่คณะกรรมการดังกล่าวไม่ยอมเปรียบเทียบก็หาขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๔ ไม่ เพราะการเปรียบเทียบกรณีนี้มิได้อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการจึงสั่งให้พนักงานสอบสวนพยายามเปรียบเทียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๔ หาได้ไม่…
คดีนี้คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งได้เปรียบเทียบบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด ไปแล้ว แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับพวกรวม ๕ คน ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวให้รับผิดตามบทมาตรา ต่าง ๆ และมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง โดยให้คณะกรรมการหรือผู้จัดการของบริษัทนั้นรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าว ซึ่งมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้กรรมการรับผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับ… ส่วนมาตรา ๗๕ วรรคสอง บัญญัติให้กรรมการรับผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี ดังนี้ เมื่อความผิดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตามมาตรา ๗๕ ต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีจึงมีอายุความสิบปี ซึ่งนับตั้งแต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกระทำผิดกับบริษัทดังกล่าวตั้งแต่ระหว่าง ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ ถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๑ โดยโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๓๙ ยังไม่ถึงสิบปี ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงไม่ ขาดอายุความ…
พิพากษายืน.

Share