แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการโรงแรมได้ทำสัญญาซื้อกระแสไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะปฏิเสธว่าไม่ได้ทำละเมิด แต่เมื่อมีกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าของโจทก์เกิดขึ้นตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งมีข้อความว่า “หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการซื้อขายไฟฟ้าข้อหนึ่งข้อใด ผู้ซื้อยินยอมให้ผู้ขายงดจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ซื้อได้ทันที โดยผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ซื้อและผู้ขายตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายในอันที่จะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าด้วยความสุจริตและจะไม่กระทำการใดๆ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการละเมิดการใช้ไฟฟ้า การละเมิดการใช้ไฟฟ้า หมายถึง การทำลายหรือดัดแปลงแก้ไขมาตรวัดไฟฟ้าและหรืออุปกรณ์ประกอบใดๆ … ทำให้มาตรวัดไฟฟ้าอ่านค่าคลาดเคลื่อน…” นอกจากนี้ในกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้า ตามสัญญายังระบุว่า “กรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าทางด้านกิโลวัตต์ และหรือกิโลวัตต์ชั่วโมง ผู้ซื้อต้องชดใช้ค่าละเมิดการใช้ไฟฟ้า…” ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินค่าละเมิดสิทธิการใช้ไฟฟ้าไปชำระแก่ฝ่ายจำเลยตามฟ้อง หากไม่ชำระภายในกำหนดจะงดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ จึงเป็นการกระทำไปตามสิทธิในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยเชื่อว่ามีสิทธิกระทำได้ ถือเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาตามปกติ หาใช่เป็นการข่มขู่ อันจะทำให้หนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องเป็นโมฆียะดังที่โจทก์อ้างไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงแรม จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.๒๕๐๓ มีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ว่าการผู้มีอำนาจกระทำแทนได้ จำเลยที่ ๓ เป็นสำนักงานสาขาของจำเลยที่ ๑ มีจำเลยที่ ๔ เป็นผู้จัดการ โจทก์ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับจำเลยที่ ๑ เพื่อใช้ในกิจการดังกล่าวและได้ชำระหนี้ค่าใช้กระแสไฟฟ้าตลอดมา ต่อมาจำเลยทั้งสี่ได้มีหนังสือขอให้โจทก์ชำระค่าละเมิดการใช้กระแสไฟฟ้าและค่าเสียหายจากการที่อุปกรณ์ประกอบไฟฟ้าถูกทำลาย โจทก์ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ทำละเมิด แต่จำเลยทั้งสี่ยืนยันให้โจทก์ชำระเงินดังกล่าวภายในกำหนด มิฉะนั้นจะพิจารณางดจ่ายกระแสไฟฟ้า อันเป็นการข่มขู่โจทก์ โจทก์เกรงว่าจะเกิดความเสียหายต่อด้านธุรกิจโรงแรมจึงยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่จำเลยโดยโจทก์มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามหนังสือรับสภาพหนี้อันเกิดจากการข่มขู่ หลังจากนั้นจึงได้มีหนังสือขอบอกล้างหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งจำเลยทั้งสี่ได้รับโดยชอบแล้ว จึงถือว่าหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวตกเป็นโมฆียะ และเมื่อโจทก์บอกล้างแล้วถือได้ว่าตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันที่ทำสัญญา ขอให้พิพากษาว่าการบอกล้างโมฆียะกรรมของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย หนังสือรับสภาพหนี้ตกเป็นโมฆะ และไม่มีผลผูกพันใดๆ ต่อโจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ให้การว่า โจทก์ประกอบธุรกิจที่จะต้องใช้กระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก โจทก์ได้ลักลอบใช้ของมีคมผ่าสายเคเบิลซึ่งเป็นสายไฟที่เข้ามาตรวัดกระแสไฟฟ้าปลิ้นเอาสายไฟฟ้าเล็กๆ หุ้มฉนวนจำนวน ๗ เส้น ที่อยู่ภายในออกมาเลือกตัดเฉพาะเส้นสีแดงแล้วยัดสายไฟฟ้าเหล่านั้นกลับเข้าที่เดิมเอากาวทารอยผ่าให้สนิทเพื่อปกปิดและอำพรางร่องรอย ทำให้การอ่านค่าหน่วยไฟฟ้าที่มาตรวัดกระแสไฟฟ้าลดลงกึ่งหนึ่งของหน่วยที่ใช้จริง การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตผิดสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ จึงมีอำนาจบอกเลิกสัญญาด้วยวิธีงดจ่ายกระแสไฟฟ้าและไม่ทำการค้าขายกับโจทก์อีกต่อไปได้ โจทก์สำนึกผิดยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้ เพื่อโจทก์จะได้มีโอกาสใช้กระแสไฟฟ้าตามปกติต่อไป หนังสือรับสภาพหนี้มีมูลหนี้อันชอบด้วยกฎหมาย ถูกต้องตามที่ปรากฏในหนังสือสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้า โจทก์ไม่มีสิทธิบอกล้าง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ โดยกำหนดค่าทนายความ ๒๐,๐๐๐ บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น ๓,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะปฏิเสธว่าไม่ได้ทำละเมิด แต่เมื่อมีกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าของโจทก์เกิดขึ้น ซึ่งตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า มีข้อความว่า “หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้ หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการซื้อขายไฟฟ้าข้อหนึ่งข้อใด ผู้ซื้อยินยอมให้ผู้ขายงดจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ซื้อได้ทันที โดยผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น” และ “ผู้ซื้อและผู้ขายตระหนักถึงสิทธิ และหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย ในอันที่จะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าด้วยความสุจริต และจะไม่กระทำการใดๆ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการใด อันมีลักษณะเป็นการละเมิดการใช้ไฟฟ้า” และ “การละเมิดการใช้ไฟฟ้า หมายถึง การทำลายหรือดัดแปลงแก้ไขมาตรวัดไฟฟ้าและหรืออุปกรณ์ประกอบใดๆ ตลอดจนเครื่องหมายหรือตราต่างๆ ทำให้มาตรวัดไฟฟ้าอ่านค่าคลาดเคลื่อน หรือเป็นผลให้ผู้ขายต้องสูญเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้ หรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือทำนองเดียวกัน หรือต่อไฟตรงโดยไม่ผ่านมาตรวัดไฟฟ้า” นอกจากนี้ในกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้า ยังระบุว่า “กรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าทางด้านกิโลวัตต์ และหรือกิโลวัตต์ชั่วโมง ผู้ซื้อต้องชดใช้ค่าละเมิดการใช้ไฟฟ้า ดังนั้น การที่ฝ่ายจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินค่าละเมิดสิทธิการใช้ไฟฟ้าไปชำระแก่ฝ่ายจำเลยตามฟ้อง หากไม่ชำระภายในกำหนดจะงดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ จึงเป็นการกระทำไปตามสิทธิในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวโดยเชื่อว่ามีสิทธิกระทำได้ ถือเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาตามปกติหาใช่เป็นการข่มขู่ อันจะทำให้หนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องเป็นโมฆียะดังโจทก์อ้างไม่
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
นายจินดา ปัณฑะโชติ ผู้ช่วยฯ
นางสาวจันทนา บารมีอวยชัย ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นางอัปษร หิรัญบูรณะ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ