คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2141/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุยกเว้นความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 (2) ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าความเสียหายและสูญหายของสินค้าเกิดจากภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือ จึงเป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาท คู่ความย่อมไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองได้นำสืบต่อสู้กันอย่างเต็มที่แล้ว ไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบได้เปรียบกัน ก็ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาทมาวินิจฉัยได้
เมื่อข้อเท็จฟังได้ว่าสินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นเหล็กรีดเย็นมีลักษณะเป็นม้วนวงกลมทบกันหลายชั้น และในใบตราส่งก็มีการระบุจำนวนสินค้าเป็นม้วนที่บรรจุในตู้สินค้าแต่ละตู้ไว้ชัดเจน ดังนั้น แผ่นเหล็กรีดเย็น 1 ม้วน ย่อมถือเป็น 1 หน่วยการขนส่ง เมื่อความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นมิใช่กรณี ตามมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 และสินค้าดังกล่าวแต่ละม้วนมีน้ำหนักมาก ไม่ต่ำกว่า 2,000 กิโลกรัม การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจึงต้องคำนวณเป็นจำนวนเงินตามน้ำหนักสุทธิในอัตรากิโลกรัมละ 30 บาท แต่หากปรากฏว่าราคาของนั้นต่ำกว่าที่จำกัดความรับผิดไว้ ให้ถือเอาตามราคาที่คำนวณได้ โดยคำนวณตามหลักเกณฑ์ มาตรา 61 กล่าวคือ ในกรณีของสูญหายหรือเสียหายทั้งหมด ให้คำนวณเท่ากับราคาที่ของนั้นจะพึงมีในเวลาที่พึงส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ถ้าของสูญหายหรือเสียหายบางส่วนให้คำนวณตามส่วนโดยเทียบกับราคาของอย่างเดียวกันและคุณภาพเท่าเทียมกันที่ยังเหลืออยู่ในเวลาส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,612,087.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน 5,807,330.73 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 5,612,087.51 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งอื่นที่ได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าตามฟ้องสินค้าตามฟ้องเสียหายและสูญหายโดยเหตุแห่งการเสียหายและสูญหายเกิดขึ้นระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้เกิดเพราะสภาพแห่งสินค้าหรือเพราะความผิดของผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่ง อย่างไรก็ตามเหตุที่ทำให้สินค้าเสียหายและสูญหายเกิดขึ้นจากภยันตรายแห่งท้องทะเล ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 52 (2) จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่เหลืออีกต่อไปพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ความเสียหายและสูญหายของสินค้าตามฟ้องเกิดจากภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทซึ่งเป็นการไม่ชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเหตุยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 52 (2) ซึ่งจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขนส่งจะต้องยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ เพื่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ทั้งจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์ว่ามีข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จึงจะได้รับยกเว้นความรับผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่สำหรับคดีนี้ จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในความสูญหายและเสียหายของสินค้าตามฟ้อง เพราะความสูญหายและเสียหายเกิดจากภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า ความเสียหายและสูญหายของสินค้าเกิดจากภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือ จึงเป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาท คู่ความย่อมไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองได้นำสืบต่อสู้กันอย่างเต็มที่แล้ว ไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบได้เปรียบแก่กัน ก็ไม่มีบทบัญญัติใดแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 หรือข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศข้อใดให้อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาทและนำมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดในความเสียหายและสูญหายของสินค้าทั้ง 26 ม้วน เป็นจำนวนเงินเท่าใดข้อเท็จจริงปรากฏว่า ความเสียหายและสูญหายของสินค้าดังกล่าวไม่เข้ากรณีดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 60 ดังนั้น ความรับผิดของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขนส่งต่อความเสียหายและสูญหายของสินค้าจึงมีจำนวนเงินจำกัดตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งบัญญัติให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียง 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละ 30 บาท ต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น แล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า แต่ในกรณีที่คำนวณราคาของหรือสินค้าที่สูญหายหรือเสียหายได้ตามมาตรา 61 แล้วปรากฏว่าราคาของนั้นต่ำกว่าที่จำกัดความรับผิดไว้ดังกล่าวข้างต้น ให้ถือเอาตามราคาที่คำนวณได้นั้น โดยในการคำนวณราคาของที่สูญหายหรือเสียหายมีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 61 กล่าวคือ ในกรณีของสูญหายหรือเสียหายทั้งหมด ให้คำนวณเท่ากับราคาที่ของนั้นจะพึงมีในเวลาที่พึงส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ถ้าของสูญหายหรือเสียหายบางส่วนให้คำนวณตามส่วนโดยเทียบกับราคาของอย่างเดียวกันและคุณภาพเท่าเทียมกันที่ยังเหลืออยู่ในเวลาส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า สินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นเหล็กรีดเย็นมีลักษณะม้วนเป็นวงกลมทบกันหลายชั้น แต่ละม้วนมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 2,000 กิโลกรัม และมีสิ่งห่อหุ้มมิดชิดป้องกันไม่ให้ถูกน้ำเพื่อให้เหมาะสมแก่การขนส่ง และในใบตราส่ง ก็มีการระบุจำนวนสินค้าเป็นม้วนที่บรรจุในตู้สินค้าแต่ละตู้ไว้ชัดเจน ดังนั้น แผ่นเหล็กรีดเย็น 1 ม้วน ย่อมถือเป็น 1 หน่วยการขนส่ง เมื่อสินค้าแผ่นเหล็กรีดเย็นที่เสียหายและสูญหายดังกล่าวแต่ละม้วนมีน้ำหนักมากไม่ต่ำกว่า 2,000 กิโลกรัม ดังกล่าว ดังนี้ การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจึงต้องคำนวณเป็นจำนวนเงินตามน้ำหนักสุทธิของม้วนแผ่นเหล็กรีดเย็นที่เสียหายและสูญหายในอัตรากิโลกรัมละ 30 บาท เพราะจะมีจำนวนเงินมากกว่าการคำนวณจากหน่วยการขนส่งในอัตราม้วนละ 10,000 บาท และเมื่อพิจารณาตามรายงานการสำรวจความเสียหาย กับรายงานการพิจารณาใช้ค่าเสียหายปรากฏว่า สินค้าเหล็กรีดเย็นที่จำเลยทั้งสองขนส่งโดยมีการออกใบตราส่ง 3 ฉบับ และโจทก์รับประกันภัยไว้ตามกรมธรรม์ประกัน 3 ฉบับ แยกเป็น 3 รายการ รายการที่ 1 จำนวน 8 ม้วน รายการที่ 2 จำนวน 17 ม้วน และรายการที่ 3 จำนวน 14 ม้วน รวม 39 ม้วนสินค้าดังกล่าวสูญหายและเสียหาย โดยสินค้ารายการที่ 1 และที่ 2สูญหาย 4 ม้วน เสียหาย 17 ม้วน และสินค้ารายการที่ 3 เสียหาย 5 ม้วน รวมเป็นสินค้าทั้งสามรายการที่สูญหายและเสียหาย 26 ม้วน
จำนวนเงินค่าเสียหายที่แท้จริงของสินค้าแต่ละม้วนกับจำนวนเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งของสินค้าแต่ละม้วนดังกล่าวมาข้างต้นนี้ ในส่วนจำนวนเงินค่าเสียหายของสินค้าต้องคิดราคาในเวลาส่งมอบสินค้า ณ ท่าปลายทาง คือวันที่ 24 สิงหาคม 2540 ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทในวันดังกล่าวเป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคิดค่าความเสียหายของสินค้าเป็นเงินบาท หากคิดเป็นเงินบาทแล้วมีจำนวนเงินเกินจำนวนเงินที่จำกัดความรับผิด จำเลยทั้งสองก็ต้องรับผิดเพียงจำนวนเงินที่จำกัดความรับผิดกิโลกรัมละ 30 บาท ดังที่ได้คิดคำนวณไว้ข้างต้นแล้ว แต่ถ้าคิดค่าเสียหายเป็นเงินบาทได้ต่ำกว่าจำนวนเงินที่จำกัดความรับผิด จำเลยทั้งสองก็ต้องรับผิดตามจำนวนความเสียหายที่คิดเป็นเงินบาทซึ่งต่ำกว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 58 และ 61 ดังกล่าวข้างต้น แต่ตามสำนวนคู่ความไม่ได้นำสืบถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในวันที่ 24 สิงหาคม 2540 ดังกล่าว จึงเห็นสมควรกำหนดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทในอัตราขายถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่าง ๆ ณ สิ้นวันทำการประจำวันที่ 24 สิงหาคม 2540 ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 24 สิงหาคม 2540 ให้ถือเอาอัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศดังกล่าวที่มีในวันสุดท้ายก่อนวันที่ 24 สิงหาคม 2540 และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดสำหรับสินค้าแต่ละม้วนตามเกณฑ์ที่วินิจฉัยมาข้างต้นนับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย โดยต้นเงินที่ต้องชำระสำหรับสินค้าม้วนที่ 1 ถึงที่ 21 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2541 และต้นเงินที่ต้องชำระสำหรับสินค้าม้วนที่ 22 ถึงที่ 26 ให้คิดนับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงินบาท โดยให้คิดคำนวณจากจำนวนเงินค่าเสียหายของสินค้าเหล็กรีดเย็นแต่ละม้วน นำมาคิดเป็นเงินบาทโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทในอัตราขายถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่างๆ ณ สิ้นวันทำการประจำวันที่ 24 สิงหาคม 2540 ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ หากกรณีเป็นวันหยุดทำการหรือมีเหตุอื่นทำให้ไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวในวันที่ 24 สิงหาคม 2540 ให้ถือเอาอัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศดังกล่าวที่มีในวันสุดท้ายก่อนวันที่ 24 สิงหาคม 2540 และเมื่อคำนวณจำนวนเงินความเสียหายของสินค้าแต่ละม้วนเป็นเงินบาทดังกล่าวแล้ว ให้นำไปเปรียบเทียบกับเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในม้วนนั้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามจำนวนความเสียหายที่ต่ำกว่านั้นแก่โจทก์ แต่ถ้าจำนวนเงินความเสียหายที่คิดเป็นเงินบาทม้วนใดสูงกว่าจำนวนเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในม้วนนั้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ต้องชำระดังกล่าวข้างต้น โดยจำนวนเงินสำหรับสินค้าม้วนที่ 1 ถึงที่ 21 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2541 และจำนวนเงินสำหรับสินค้าม้วนที่ 22 ถึงที่ 26 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share