คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) นั้น ต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามความเป็นจริง ผู้ร้องเป็นบุตรนาง น. ผู้ตายเป็นบุตรนาง ท. โดยมีนาย ท. เป็นบิดาเดียวกัน แม้ผู้ร้องและผู้ตายเป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนาย ท. ก็ถือว่าผู้ร้องและผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องจึงเป็นทายาท โดยธรรม ตามบทกฎหมายข้างต้น

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นน้องร่วมบิดาเดียวกันกับนายคำ ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2543 โดยผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมและมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้ และมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็น ผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ตายกับผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) และไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายใจ๋ แก้วศรี ลุงผู้ตายซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ผู้คัดค้านมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่ ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (6) และมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ขอให้ยกคำร้องขอและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ในวันนัดไต่สวนพยานผู้ร้องนัดแรก ศาลชั้นต้น เห็นว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) ถือตามสถานภาพตามความเป็นจริงหาได้คำนึงถึงว่าจะต้องเกิดจากบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ เมื่อผู้ตายและผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมลำดับที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) ผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ 6 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (6) จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมลำดับหลังถัดลงไปจากผู้ร้อง จึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ไม่อาจยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อขอตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของ ผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 ได้ จึงมีคำสั่งยกคำคัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ แล้วศาลชั้นต้นไต่สวนสืบพยานผู้ร้องและมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาของผู้คัดค้านเพียงข้อกฎหมายประการเดียวว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องกับผู้ตายเป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายทา จึงไม่ใช่พี่น้องร่วม บิดาเดียวกันตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิร้องขอจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้บัญญัติว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ บิดาเดียวกันแล้ว หากจะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันดังที่ผู้คัดค้านฎีกาแล้ว ผลก็จะกลายเป็นว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้ก็แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น การตีความเช่นนี้เห็นได้ชัดว่าจะทำให้การบังคับใช้บทกฎหมายดังกล่าวแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมาย และมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่บัญญัติให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังและตัดญาติห่างซึ่งอยู่ในลำดับถัดลงไปให้ไม่มีสิทธิในมรดกของผู้ตายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1630 การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงต้องถือว่าความเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามความเป็นจริง เมื่อผู้ร้องเกิดจากนางหนึ้ง มารดา ผู้ตายเกิดจากนางทา มารดา โดยมีนายทา เป็นบิดาเดียวกัน แม้ผู้ร้องกับผู้ตายเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายทา ก็ถือได้ว่าผู้ร้องกับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านเข้ารับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นลุงผู้ตายและถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 จึงไม่มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องคัดค้านการที่ผู้ร้องขอ จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายได้ คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ผู้คัดค้านยกขึ้นมาอ้างมาในฎีกาในเพื่อนำมาเทียบเคียงนั้น ศาลฎีกาในคดีดังกล่าววินิจฉัยว่า โจทก์มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตร ไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรผู้ตาย จึงเป็นคนละอย่างต่างกับคดีนี้ และ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 กล่าวคือ การเป็นบิดา กับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นย่อมก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่ในระหว่างบิดากับบุตรตามกฎหมาย การตีความให้สิทธิ แก่บิดาในอันที่จะมีสิทธิในมรดกของบุตรผู้ตาย ซึ่งต้องแปลว่าจะต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรเท่านั้น ย่อมสอดคล้องรองรับกับสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่มีอยู่ตามกฎหมาย แต่การเป็นพี่น้องด้วยกันหาได้ มีบทกฎหมายบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันไม่ จึงไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลเทียบเคียงกับคดีนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสอง มีคำสั่งและคำพิพากษาต้องตามกันมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share