คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4411/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ส. เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด บ.จำเลยที่ 1 และออกจากการเป็นหุ้นส่วนเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2526ความรับผิดของ ส. อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ ส. ออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน คือวันที่ 27 เมษายน 2528ซึ่งตรงกับวันเสาร์และในวันรุ่งขึ้น 28 ก็ตรงกับวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดราชการตามประเพณี เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันจันทร์ที่29 เมษายน 2528 จึงถือได้ว่า ยังอยู่ภายในระยะเวลาสองปีอันเป็นเงื่อนเวลาตามกฎหมายที่ ส. ยังมีความผูกพันเกี่ยวกับหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1 ที่ ส. จะต้องรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้ค่าภาษีอากร และมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยทั้งสามไม่ได้ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ที่ 3 เด็ดขาดส่วนจำเลยที่ 2 ได้ออกจากหุ้นส่วนเกิน 2 ปีแล้ว ไม่ต้องร่วมรับผิดให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาในชั้นนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เพียงประเด็นเดียวว่า หนี้ค่าภาษีอากรซึ่งโจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยตกเป็นบุคคลล้มละลายนั้น จำเลยที่ 2 มีความผูกพันที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ต่อมาได้พ้นจากตำแหน่งและออกจากการเป็นหุ้นส่วนเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2526 ส่วนโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2528 และหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออกจากการเป็นหุ้นส่วน จึงมีปัญหาว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออกจากการเป็นหุ้นส่วนเมื่อเลยระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนอันจะทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 บัญญัติไว้หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์ในการคำนวณนับระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้น ต้องถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 161 อันเป็นแม่บท ที่ระบุว่าถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเป็นวันหยุดซึ่งตามประเพณีงดเว้นการงาน ก็ให้นับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าวันสุดท้ายที่ครบกำหนด 2 ปี คือวันที่ 27 เมษายน 2528 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 2 จะพ้นไปจากความรับผิดนั้นตรงกับวันเสาร์และในวันรุ่งขึ้นที่ 28 ก็ตรงกับวันอาทิตย์ อันเป็นวันหยุดราชการตามประเพณีดังกล่าว จึงต้องนับวันที่ 29 เมษายน 2528 ซึ่งเป็นวันเริ่มทำงานใหม่เข้าด้วย เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่29 เมษายน 2528 จึงถือได้ว่ายังอยู่ภายในระยะเวลา 2 ปี อันเป็นเงื่อนเวลาตามกฎหมายที่จำเลยที่ 2 ยังมีความผูกพันเกี่ยวกับหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1 ที่ตนจะต้องรับผิด ทั้งข้อเท็จจริงตามทางนำสืบฝ่ายเดียวของโจทก์ฟังเป็นยุติว่า จำเลยยังค้างชำระหนี้ค่าภาษีตามฟ้อง โดยที่ได้รับการทวงถามถึง 3 ครั้ง แล้วก็ยังไม่ดำเนินการอย่างใด ตลอดจนทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่พอแสดงได้ว่ายังอยู่ในฐานะที่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้ก็ไม่ปรากฏ จึงเป็นกรณีต้องตามเงื่อนไขของกฎหมายที่สมควรตกเป็นบุคคลล้มละลาย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โดยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613/2523 มาเป็นเหตุผลสนับสนุนนั้น เห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าววินิจฉัยข้อกฎหมาย ในปัญหาเรื่องอื่นยังไม่ตรงกับประเด็นในคดีนี้ จึงไม่อาจอ้างมาเทียบเคียงเป็นบรรทัดฐานกับกรณีพิพาทในคดีนี้ได้”
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาด

Share