แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเพิ่มโทษอีกหนึ่งในสามตาม ป.อ.มาตรา 92 นั้น จะต้องกำหนดโทษที่จะลงเสียก่อนแล้วจึงเพิ่มโทษ หลังจากนั้นจึงจะลดโทษตาม ป.อ.มาตรา 54
คดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ พิพากษาเพียงลงโทษปรับสถานเดียว จึงไม่อาจเพิ่มโทษตาม ป.อ.มาตรา 92 ได้ และปัญหานี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีจึงมีผลถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๔ , ๑๐๘ , ๑๑๐ และ ๑๑๕ ป.อ.มาตรา ๓๒ , ๓๓ , ๘๓ และ ๙๒ ริบของกลางทั้งหมดและเพิ่มโทษจำเลยที่ ๒
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ ๒ รับข้อเคยต้องโทษและพ้นโทษจริงตามฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ จำคุก ๖ เดือน และปรับ ๓๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ เดือน และปรับ ๑๕,๐๐๐ บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ ๑ กลับตัวต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๒๙ และ ๓๐ ริบของกลาง ในส่วนของจำเลยที่ ๒ เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกและกระทำความผิดภายใน ๕ ปี นับแต่วันพ้นโทษ ให้เพิ่มโทษหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ ลงโทษจำคุก ๔ เดือน จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๒ ไว้มีกำหนด ๒ เดือน
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ว่า สมควรลงโทษจำเลยที่ ๒ สถานเบาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าหรือปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายขึ้นเอง สินค้าของกลางก็มีเพียงรองเท้ากีฬาจำนวน ๖๔ คู่ สนับแข้งจำนวน ๙๕ คู่ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมมานานแล้ว หรือเป็นผู้จำหน่ายรายใหญ่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒ โดยมิได้ตั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ ๒ เสียก่อน กลับให้เพิ่มโทษหนึ่งในสาม ลงโทษจำคุก ๔ เดือน จึงไม่ชอบและหนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขกำหนดโทษสำหรับจำเลยที่ ๒ เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่สภาพและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ ๒ โดยวางโทษก่อนลด ให้ปรับเพียงสถานเดียวจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ฟังขึ้น ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ ๑ จะมิได้อุทธรณ์แต่จำเลยที่ ๑ ร่วมกระทำความผิดตามคำฟ้องกับจำเลยที่ ๒ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ไขโทษตลอดไปถึงจำเลยที่ ๑ ซึ่งมิได้อุทธรณ์ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๔๕ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓
อนึ่ง เมื่อโทษสำหรับจำเลยที่ ๒ เป็นโทษปรับสถานเดียวดังได้วินิจฉัยข้างต้นแล้ว แม้จำเลยที่ ๒ เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกและได้กระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในเวลา ๕ ปี นับแต่วันพ้นโทษก็ตาม แต่ก็ไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ ๒ อีกหนึ่งในสามได้ เพราะศาลมิได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒ ในคดีนี้ถึงจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองโดยปรับแต่เพียงสถานเดียวจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ และ ๓๐ ยกคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ย่อ/ตรวจ
นายไมตรี ศรีอรุณ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ