คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุการณ์ชกต่อยครั้งแรกได้สิ้นสุดลงแล้ว พวกจำเลยและผู้เสียหายที่ 1 ต่างยืนอยู่คนละแห่ง แล้วผู้เสียหายที่ 1จึงเริ่มก่อเหตุขึ้นใหม่โดยผู้เสียหายที่ 1 ถือท่อนเหล็กไล่ทำร้ายจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้ แต่การที่จำเลยใช้ปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงถึง 2 นัด โดยเฉพาะการยิงนัดที่ 2 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้วิ่งหนีไปอยู่ทางด้านหัวรถนับว่าเกินสมควรแก่เหตุ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,371, 91, 83, 80, 60, 33, 32 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 ริบอาวุธปืนซองกระสุนปืน และเครื่องกระสุนปืนของกลางด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 60, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก, 55, 72 ทวิ วรรคสอง, 78 ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 เป็นการกระทำกรรมเดียว จำคุก 12 ปีฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3 จำคุก 12 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 30 ปี คำให้การชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 20 ปีริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3 จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 69และมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 69, 60 แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีระวางโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 69 จำคุก 8 ปี เมื่อรวมกับความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯอีก 6 ปี รวมเป็นจำคุก 14 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก9 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกที่ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 ไม่เป็นการป้องกันตัวนั้น เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า หลังจากที่พยานไปหลบอยู่ที่หลังช่องขายตั๋วแล้ว พยานได้กลับมายืนที่หน้ารถร่วมของพยานได้มองเห็นจำเลยยืนอยู่หน้าช่องขายตั๋วรถที่จะไปจังหวัดนครราชสีมา พยานจึงวิ่งไปหยิบท่อนเหล็กสำหรับเคาะยางจากบนรถของพยานและวิ่งไล่ตีจำเลยไปถึงบริเวณท้ายรถของจำเลยก็แสดงว่าเหตุการณ์ชกต่อยกันในครั้งแรกได้สิ้นสุดลงแล้วพวกจำเลยและผู้เสียหายที่ 1 ต่างยืนอยู่คนละแห่งแล้วผู้เสียหายที่ 1จึงเริ่มก่อเหตุขึ้นใหม่ ผู้เสียหายที่ 3 เองก็เบิกความว่าพยานได้มาถึงสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือในเวลา 5.10 นาฬิกาก็ได้ทราบจากนายว๊ะลูกน้องคนหนึ่งว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้มีเรื่องชกต่อยกับจำเลย จากนั้นพยานได้ขึ้นไปบนรถของตนและสั่งให้ออกรถได้เพราะถึงเวลาจะต้องออกรถพอดี เมื่อรถเคลื่อนออกไปได้ประมาณ 20 เมตร พยานบอกให้รถหยุดเพื่อจะไปตามผู้เสียหายที่ 1มาขึ้นรถด้วยเพราะเกรงว่าจะไปมีเรื่องกับจำเลย เมื่อพยานเดินไปถึงชานชาลาฝั่งที่รถของจำเลยจอดอยู่ก็เห็นผู้เสียหายที่ 1ถือวัตถุชิ้นหนึ่งวิ่งไล่ตีจำเลย คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 3เป็นการเจือสมคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่า เหตุการณ์ชกต่อยครั้งแรกได้หยุดไปแล้วก่อนที่ผู้เสียหายที่ 3 จะมาถึงชานชาลาโดยที่ผู้เสียหายที่ 1 ไล่ทำร้ายจำเลยเป็นเหตุการณ์เริ่มต้นใหม่ ดังนั้นการที่ผู้เสียหายที่ 1 ถือท่อนเหล็กไล่ทำร้ายจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้ แต่การที่จำเลยใช้ปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงถึง 2 นัด โดยเฉพาะการยิงนัดที่ 2ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้วิ่งหนีไปอยู่ทางด้านหัวรถนับว่าเกินสมควรแก่เหตุ
ปัญหาต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3 ด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3
พิพากษายืน

Share