คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2251/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เดิมมีโจทก์ และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาโจทก์ถอนตัวออกจากการเป็นหุ้นส่วนโดยมีการทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็น ผู้ให้สัญญา แต่ไม่ได้ประทับตราของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงข้ออื่น ๆ ในนามของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์บางส่วนไปแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ก็จดทะเบียนถอนโจทก์ออกจากการเป็น ผู้ถือหุ้น ตามบันทึกข้อตกลงแล้ว ซึ่งเท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ปฏิบัติไปตามบันทึกข้อตกลงนั้นเป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 ดังนั้น แม้บันทึกข้อตกลงดังกล่าว จะไม่มีการประทับตราของจำเลยที่ 1 ก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกระทำการแทนในนามของจำเลยที่ 1 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์
เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดย่อมต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1077 (2) ประกอบด้วยมาตรา 1087 แห่ง ป.พ.พ. จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน ๓๑๙,๘๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้โจทก์ ๓๑๙,๘๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เดิมมีโจทก์และจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาโจทก์ถอนตัวออกจากการเป็นหุ้นส่วนได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สิน โดยจำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้สัญญาแต่ไม่ประทับตราของจำเลยที่ ๑ คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่บันทึกข้อตกลงดังกล่าว ไม่ได้ประทับตราของจำเลยที่ ๑ ตามข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ ที่ได้จดทะเบียนไว้มีผลผูกพันจำเลยที่ ๑ หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด การดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ ย่อมต้องอาศัยบุคคลธรรมดาเป็นผู้กระทำในนามของจำเลยที่ ๑ ซึ่งก็คือ จำเลยที่ ๒ หุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อจำเลยที่ ๒ หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ทำบันทึกข้อตกลงให้แก่โจทก์ ในนามของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามบันทึก ข้อตกลงข้ออื่น ๆ ในนามของจำเลยที่ ๑ ให้แก่โจทก์บางส่วนไปแล้ว ทั้งจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ หุ้นส่วนผู้จัดการ ก็จดทะเบียนถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ ๑ ตามบันทึกข้อตกลงแล้ว ซึ่งเท่ากับจำเลยที่ ๑ ยอมรับการกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ปฏิบัติไปตามบันทึกข้อตกลงนั้นเป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ ๑ ดังนั้น แม้บันทึกข้อตกลงดังกล่าว จะไม่มีการประทับตราของจำเลยที่ ๑ ก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ หุ้นส่วนผู้จัดการกระทำการแทนในนามของจำเลยที่ ๑ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ ๑ ที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้รายนี้ให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๑ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ที่ว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดในหนี้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวต่อโจทก์ เพราะจำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อในนามของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ ผิดนัดชำระหนี้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดย่อมต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ ๑ โดยไม่จำกัดจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๗๗ (๒) ประกอบด้วยมาตรา ๑๐๘๗ แห่ง ป.พ.พ. จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ชำระหนี้รายนี้ให้แก่โจทก์…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีจำเลยทั้งสองไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.

Share