คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1236/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์โดยสารชนรถจักรยานยนต์โจทก์ เป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย แม้หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถจะระบุชื่อผู้อื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุประกอบการขนส่งผู้โดยสาร โดยมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้างในขณะเกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 4 พนักงานขับรถ ใช้ให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารขับรถยนต์โดยสารไปส่งผู้โดยสารแทนนั้น เป็นการแสดงออกชัดว่าจำเลยที่ 4 ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนตนในการปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถยนต์ ฉะนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอันเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 เช่นนี้ กรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 420 , 425 , 427 , 797 และ 820 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและครอบครองรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10 – 1610 เชียงราย โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจจัดการ ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 4 เป็นพนักงานขับรถยนต์โดยสารจากเชียงรายมุ่งหน้ายังอำเภอพาน มีจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร เมื่อมาถึงตลาดอำเภอพาน จำเลยที่ 4 มีธุระจึงให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารต่อไป จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์โดยสารในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาทชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์เป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย และรถจักรยานยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 234,212 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 214,412 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา คดีจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อและต้องรับผิดในผลของความประมาทเลินเล่อนั้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาคือ จำเลยที่ 1 และที่ 4 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 ในผลของความประมาทเลินเล่อดังกล่าวหรือไม่ แม้หนังสือแสดงการจดทะเบียนจะระบุชื่อผู้อื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่ได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่านายกำจัดมีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 อีกทั้งมีเครื่องหมายจำเลยที่ 1 ที่ข้างรถยนต์โดยสาร และหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ให้ทนายความดำเนินการเกี่ยวกับอุบัติเหตุดังกล่าว โดยไม่ปรากฏว่าผู้มีชื่อในหนังสือแสดงสิทธิในรถได้ดำเนินการอย่างใด น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุประกอบการขนส่งผู้โดยสารจริงโดยมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นลูกจ้างซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้างในขณะเกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 4 พนักงานขับรถใช้ให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารทำหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารไปส่งผู้โดยสารนั้นเป็นการแสดงออกชัดว่าจำเลยที่ 4 ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนตนในการปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถยนต์ ฉะนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอันเกิดจากผลของการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 เช่นนี้ กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 420 , 425 , 427 , 979 และ 820 จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 ด้วย
พิพากษายืน.

Share