คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9012/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 นิยามคำว่า “จำหน่าย” หมายความถึง ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ การที่จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจดูโดยไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แม้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะยังมิได้ส่งมอบเงินค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว มิใช่เป็นเพียงความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจแก้โทษที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๖๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง จำคุก ๕ ปี คำรับสารภาพของจำเลยชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.อ. มาตรา ๘๐ จำคุก ๓ ปี ๔ เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ๒ เดือน ๒๐ วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและอ้างว่ายึดเมทแอมเฟตามีนได้จำนวน ๗ เม็ด ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอก ส. กับสิบตำรวจตรี ช. ผู้จับกุมเบิกความเป็นพยานว่า ก่อนจับกุม มีสายลับมาแจ้งให้ทราบว่าจำเลยมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายยาเสพติด วันเกิดเหตุพยานทั้งสองกับพวกวางแผนล่อซื้อจับกุมโดยให้สิบตำรวจตรี ช. ปลอมตัวไปกับสายลับและนำเงินไปล่อซื้อ ร้อยตำรวจเอก ส. กับพวกซุ่มดูอยู่ห่างจากจุดล่อซื้อประมาณ ๕๐ เมตร บริเวณที่ล่อซื้อเป็นศาลาที่พักริมถนน เห็นจำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่ศาลา สิบตำรวจตรี ช. ขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยและล้วงกระเป๋าหยิบธนบัตรออกมานับและขอดูเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้สิบตำรวจตรี ช. ดูจำนวน ๗ เม็ด สิบตำรวจตรี ช. จึงเก็บเงินใส่กระเป๋าและแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ โบกมือให้สัญญาณและเข้าจับกุมตัวจำเลย ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน จุดที่ล่อซื้อและจับกุมเป็นศาลาที่พักริมทาง เชื่อว่าพยานโจทก์ที่ซุ่มดูอยู่น่าจะเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะสิบตำรวจตรี ช. ได้แสดงตัวและจับกุมจำเลยทันทีเมื่อจำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้ แม้ว่าในชั้นจับกุมจำเลยจะกล่าวอ้างว่ามีการซ้อมทำร้ายร่างกายก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนจะรู้จักกับจำเลยหรือมีสาเหตุกับจำเลยมาก่อนอันจะเป็นเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้ง อีกทั้งจำเลยเบิกความรับว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ทำร้ายจำเลย และยินยอมลงชื่อในบันทึกคำรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังเชื่อได้มั่นคงว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจริงตามฟ้อง เพราะตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ นิยามคำว่า “จำหน่าย” หมายความถึง ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ การที่จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจดูโดยไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ถึงแม้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะยังมิได้ส่งมอบค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลย แล้วจำเลยก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับ การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว เพราะจำเลยมีเจตนาที่จะจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอยู่ก่อนแล้ว มิใช่เป็นเพียงความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจแก้โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษามา เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๒ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓.

Share