คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด ต่อมาโจทก์โอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของ ช. มาชำระหนี้ของจำเลยเพื่อหักทอนบัญชีเดินสะพัด แต่เมื่อหักทอนบัญชีกันแล้ว จำเลยคงเป็นหนี้โจทก์อยู่อีกจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีอีก พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าคู่สัญญาประสงค์ให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดอันเป็นสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยอีก
สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นสัญญาลักษณะพิเศษที่กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ในอันที่จะคำนวณดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่ลูกหนี้ได้ หลังจากบัญชีเดินสะพัดเลิกกันแล้ว สิทธิในการคำนวณดอกเบี้ยทบต้นย่อมหมดไป คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. 391 วรรคหนึ่งจำเลยต้องชำระหนี้เงินที่เบิกเกินบัญชีอยู่แก่โจทก์การที่จำเลยไม่ชำระหนี้จึงเป็นการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากการเลิกสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ใช่เบี้ยปรับที่โจทก์เรียกเอาจากจำเลยผู้ผิดสัญญาที่หากสูงเกินส่วนศาลอาจปรับลดลงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำหนี้เบิกเงินเกินบัญชีพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙.๗๕ ต่อปี จากต้นเงิน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๔๔๑,๗๑๖.๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๐ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยได้ชำระภายหลังสิ้นสุดสัญญามาหักหนี้ตามลำดับ เมื่อคงเหลือจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ถือเป็นต้นเงินที่จะคำนวณดอกเบี้ยตามอัตราข้างต้นต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดีโดยดำหนดค่าทนายความ ๒,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๔ จำเลยทำคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์ สาขางามวงศ์วาน ตกลงว่าจะนำเงินเข้าบัญชีและสั่งจ่ายเช็คของโจทก์ที่มอบให้ไว้เพื่อถอนเงินจากบัญชี ถ้าเหลือเงินในบัญชีไม่พอจ่ายหรือเกินวงเงิน หากโจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินตามเช็คเกินวงเงินในบัญชีไป จำเลยยอมผูกพันที่จะจ่ายเงินส่วนที่โจทก์ผ่อนผันจ่ายไปนั้นคืนโจทก์ เสมือนว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ตามบัญชีเดินสะพัดและหรือเป็นหนี้ เบิกเงินเกินบัญชีต่อโจทก์และยินยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี หรืออัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นตามวิธีและประเพณีของธนาคาร โดยมี ช. ทำสัญญาจำนำสิทธิการรับฝากเงินจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นประกันหนี้ดังกล่าวของจำเลย นับแต่เปิดบัญชีจำเลยเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๐ จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน ๒,๘๓๙,๘๔๖ บาท โจทก์จึงโอนเงินฝากประจำของ ช. จำนวน ๒,๓๙๘,๐๘๔.๔๒ บาท มาชำระหนี้ของจำเลยเพื่อหักทอนบัญชี
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงเมื่อใด เห็นว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีกำหนดสิ้นสุดลง จึงใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๐ โจทก์โอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของนายชัยวัล มาชำระหนี้ของจำเลย เมื่อหักทอนบัญชีกันแล้วจำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์ อยู่อีกจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีอีก พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า คู่สัญญาประสงค์ให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดอันเป็นสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีด้วยสิ้นสุดลงในวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๐ นั่นเอง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยได้ถึงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๐ …
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า การที่ศาลกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยภายหลังสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นสัญญาลักษณะพิเศษที่กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ในอันที่จะคำนวณดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่ลูกหนี้ได้ หลังจากสัญญาบัญชีเดินสะพัด เลิกกันแล้ว สิทธิในการคำนวณดอกเบี้ยทบต้นเจ้าหนี้ย่อมหมดไป คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ วรรคหนึ่ง จำเลยต้องชำระหนี้เงินที่เบิกเกินบัญชีแก่โจทก์ การที่จำเลยไม่ชำระหนี้จึงเป็นการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากการเลิกสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราตามที่ตกลงไว้ในสัญญาได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าดอกเบี้ยภายหลังสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงถือเป็นดอกเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกเอาจากจำเลยผู้ผิดสัญญา ซึ่งหากสูงเกินกว่าศาลอาจปรับลดลงได้ เมื่อโจทก์มิได้แสดงอัตราดอกเบี้ยที่คิดแก่จำเลยหลังสัญญาสิ้นสุดลงไว้ชัดเจนจึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีนั้น ข้อวินิจฉัยดังกล่าวไม่ต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาที่สูงกว่าได้ ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share