คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6600/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง… และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 ได้สิ้นอายุการใช้บังคับ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2535 แต่ต่อมาได้มี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร… เขตห้วยขวางและเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ประกาศใช้อันมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 สิงหาคม 2535 โดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนเช่นเดียวกับ พ.ร.ฎ. ฉบับก่อน และต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2536 โจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน อันอยู่ในระหว่างเวลาบังคับใช้ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร… เขตห้วยขวาง และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตาม พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ ดังนั้น การทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯนั้น จำเลยที่ 2 กระทำโดยมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตาม พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนกับโจทก์ได้ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯจึงไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและไม่ตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1861, 135930 และ 139197 ถึง 139204 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร คืนให้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยโจทก์ยอมคืนเงินที่ได้รับมาแล้วทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวได้ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินพร้อมดอกเบี้ยแทนเป็นเงินรวม 759,396,024.86 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 719,433,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชดใช้ราคาเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่กรรม นายสนิททายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง… และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 ได้สิ้นอายุการใช้บังคับ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2535 แต่ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร… เขตห้วยขวางและเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ประกาศใช้อันมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 สิงหาคม 2535 โดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาฉบับก่อน ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือเนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำการสำรวจเขตที่ดินเพื่อเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนง… และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อประโยชน์ในการสร้างทางพิเศษสายพระโขนง – หัวลำโพง – บางซื่อ และสายสาธร – ลาดพร้าว ยังไม่แล้วเสร็จ การออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร… เขตห้วยขวาง และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ก็เพื่อดำเนินการในกิจการเดียวกันกับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง… และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 และต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2536 โจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สายสาธร – ลาดพร้าว (บริเวณโรงซ่อมบำรุง) กรณีไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน อันอยู่ในระหว่างเวลาบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร… เขตห้วยขวาง และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ดังนั้น การทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ นั้น จำเลยที่ 2 กระทำโดยมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตกลงซื้อขายอสังหาริมทรพัย์ที่จะต้องเวนคืนกับโจทก์ได้ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ ไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share