คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6019/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2528 ข้อ 8 (3) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย ฉบับที่ 10 พ.ศ.2528 ข้อ 2 และคำจำกัดความของคำว่า “สมาชิก” ตามระเบียบนี้มิได้ระบุว่าห้ามมิให้ชาวไร่อ้อยหรือหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยที่เป็นสมาชิกของสมาคมสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยอื่นหรือมิได้มีบทบบัญญัติของกฎหมายตอนใดระบุว่าเมื่อเป็นสมาชิกของสมาคมใดแล้วจะสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมอื่นมิได้ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 5 พ.ศ.2529 ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบำรุงและวิธีการชำระค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อย ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2529 ข้อ 7 วรรคสาม แสดงให้เห็นว่าชาวไร่อ้อยสามารถที่จะสมัครเป็นสมาชิกสถาบันชาวไร่อ้อยได้มากกว่าหนึ่งสถาบันเพียงแต่หากเป็นสมาชิกหลายสถาบันต้องแจ้งให้โรงงานที่ตนส่งอ้อยเข้าหีบทราบว่าจะให้โรงงานส่งเงินให้สถาบันใดเพียงสถาบันเดียวเท่านั้น ดังนั้นแม้สมาชิกของโจทก์จำนวน 620 คน จะยังเป็นสมาชิกของสมาคมชาวไร่อ้อยสิงห์บุรีก็ตาม ก็ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายที่จะสมัครเป็นสมาชิกของโจทก์ได้ เมื่อโจทก์ยื่นคำขอมีสมาชิกจำนวนรวม 784 คน จึงเป็นการยื่นคำขอที่มีสมาชิกชาวไร่อ้อยไม่น้อยกว่า 600 คน ตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อยฉบับที่ 1 พ.ศ.2528 ข้อ 8 (3) ที่แก้ไขแล้ว จำเลยต้องจดทะเบียนให้โจทก์เป็นสถาบันชาวไร่อ้อย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันดำเนินการรับจดทะเบียนโจทก์เป็นสถาบันชาวไร่อ้อยลพบุรีท่าหลวงหากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสมาชิกเป็นชาวไร่อ้อยไม่น้อยกว่า 600 คน หรือไม่ ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2528 ข้อ 8 (3) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย ฉบับที่ 10 พ.ศ.2528 ข้อ 2 ระบุว่า “ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยได้แก่ สมาคม สหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนดังต่อไปนี้
(3) มีสมาชิกชาวไร่อ้อยไม่น้อยกว่า 600 คน ในกรณีชุมนุมสหกรณ์ตามกฎหมาย สหกรณ์ซึ่งมีสหกรณ์เป็นสมาชิก ให้ถือว่าจำนวนสมาชิกชาวไร่อ้อยของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิก เป็นจำนวนสมาชิกชาวไร่อ้อยของชุมนุมสหกรณ์ที่จะขอจดทะเบียนเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยด้วย” และตามข้อ 4 ของระเบียบนี้ระบุว่า “สมาชิก” หมายความว่าชาวไร่อ้อยหรือหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ซึ่งได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 และเป็นสมาชิกสมาคม สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยแล้วแต่กรณีจะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวและคำจำกัดความของคำว่า “สมาชิก” มิได้ระบุว่าห้ามมิให้ชาวไร่อ้อยหรือหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยที่เป็นสมาชิกของสมาคม สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยอื่นหรือมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายตอนใดระบุว่าเมื่อเป็นสมาชิกของสมาคมใดแล้วจะสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมอื่นมิได้ และเมื่อพิจารณาประกอบกับระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 5 พ.ศ.2529 ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบำรุงและวิธีการชำระค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อย ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2529 ข้อ 7 วรรคสาม แสดงให้เห็นว่าชาวไร่อ้อยสามารถที่จะสมัครเป็นสมาชิกสถาบันชาวไร่อ้อยได้มากกว่าหนึ่งสถาบัน เพียงแต่หากเป็นสมาชิกหลายสถาบันต้องแจ้งให้โรงงานที่ตนส่งอ้อยเข้าหีบทราบว่าจะให้โรงงานส่งเงินให้สถาบันใดเพียงสถาบันเดียวเท่านั้น ดังนั้นแม้สมาชิกของโจทก์จำนวน 620 คน จะยังเป็นสมาชิกของสมาคมชาวไร่อ้อยสิงห์บุรีก็ตาม ก็ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายที่จะสมัครเป็นสมาชิกของโจทก์ได้ เมื่อโจทก์ยื่นคำขอมีสมาชิกจำนวนรวม 784 คน จึงเป็นการยื่นคำขอที่มีสมาชิกชาวไร่อ้อยไม่น้อยกว่า 600 คน ตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2528 ข้อ 8 (3) ที่แก้ไขแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติในการจดทะเบียนเป็นสมาชิกเพราะเหตุที่โจทก์มีสมาชิกไม่ครบจำนวน 600 คนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปคือเรื่องอำนาจฟ้อง แม้ศาลล่างทั้งสองจะไม่วินิจฉัยมาแต่เห็นว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเพียงกระทรวงและรัฐมนตรีกระทรวงดังกล่าวและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเท่านั้น ไม่มีส่วนในการตรวจสอบ เรื่องการขอจดทะเบียนและอนุมัติในการเป็นสมาชิกสถาบันชาวไร่อ้อยโดยตรง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเป็นสมาชิกสถาบันชาวไร่อ้อยโดยตรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ดำเนินการจดทะเบียนโจทก์เป็นสถาบันชาวไร่อ้อยลพบุรีท่าหลวง หากจำเลยที่ 4 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share