แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
++ เรื่อง การค้าระหว่างประเทศ รับขนของทางทะเล ++
++ ทดสอบทำงานในเครื่อง ++
++
++
++ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามประการแรกมีว่า ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีตามประเด็นที่ได้กำหนดไว้เรียงกันไปทุกข้อหรือไม่
++ เห็นว่า การวินิจฉัยชี้ขาดคดีนั้นศาลย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยตามที่เห็นว่าสมควรตามความจำเป็นแห่งคดี
++ เมื่อปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้และศาลได้กำหนดเป็นประเด็นไว้ ฉะนั้นถ้าหากได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้เป็นคุณแก่ฝ่ายจำเลยแล้วจะไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีในข้ออื่นเพราะแม้จะพิจารณาไปก็ไม่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลก็มีอำนาจที่จะวินิจฉัยเช่นนั้นได้โดยไม่จำต้องวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นที่กำหนดไว้ให้หมดทุกข้อ
++
++ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามประการต่อไปมีว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
++ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 46 สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการเสียหายแห่งของที่รับขนในกรณีที่ไม่มีการส่งมอบของเลยให้นับอายุความ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดส่งมอบของนั้นหรือล่วงเลยกำหนดเวลาอันสมควรส่งมอบ
++ ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยสอดคล้องกันว่า มีการส่งสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งที่ท่าเรือซานโฮเซเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.18 การขนส่งจากท่าเรือซานโฮเซไปยังท่าเรือลอสแองเจลิสใช้เวลาประมาณ 4 วัน และจากท่าเรือลอสแองเจลิสใช้เวลาเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครประมาณ 1 เดือน และได้ความจากนางพรรณี ตั้งเรือนวงศ์ กรรมการผู้จัดการของโจทก์ที่ 1 ว่าได้ตรวจสอบเอกสารทราบว่าเรือจะเดินทางมาถึงประเทศไทยประมาณต้นเดือนตุลาคม 2538 จึงไปติดต่อขอรับสินค้าพิพาทจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าเรือมาเทียบท่าแล้ว แต่ไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทมาด้วย ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากโจทก์ที่ 2ว่าได้รับแจ้งจากตัวแทนจำเลยในประเทศไทยว่าสินค้าจะมาถึงท่าเรือกรุงเทพประมาณกลางเดือนตุลาคม 2538 แสดงว่าในการขนส่งสินค้าพิพาท สินค้าพิพาทควรจะต้องมาถึงประเทศไทยและส่งมอบประมาณเดือนตุลาคม 2538 ฉะนั้น อายุความจะต้องเริ่มนับแต่ช่วงเวลานั้นเมื่อนับแต่ช่วงเวลาดังกล่าวถึงวันฟ้องคือวันที่ 12 พฤษภาคม 2540เป็นเวลาเกิน 1 ปี แล้ว คดีของโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความฟ้องร้องในกรณีที่ขอให้รับผิดเมื่อไม่มีการส่งมอบสินค้าตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 46
++ ส่วนที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่า กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขนโดยสิ้นเชิงจึงต้องนำอายุความทั่วไปคือ 10 ปี มาบังคับนั้น
++ ได้ความว่า จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ขนส่งสินค้าพิพาทมาช่วงหนึ่งแล้ว ก่อนที่สินค้าจะถูกกัก เพราะมีปัญหาเรื่องน้ำหนัก ข้อเท็จจริงจึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญารับขนโดยสิ้นเชิง
++ เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เป็นคุณแก่ฝ่ายจำเลยแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ++
ย่อยาว
คดีนี้เป็นคดีที่โอนมาจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยการร้องขอของคู่ความตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙
โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตถึงบริษัทเซ็นทรัลอเมริกาไฮด์ส จำกัด ในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อสั่งซื้อหนังม้า จำนวน ๗๕๐ ผืน และหนังวัวจำนวน ๔๐๐ ผืน ราคารวมค่าขนส่งถึงประเทศไทย เป็นเงิน ๒๔,๖๓๖.๒๕ ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตถึงบริษัทเซ็ลทรัลอเมริกาไฮด์ส จำกัดเพื่อสั่งซื้อหนังวัว จำนวน ๘๐๐ ผืน รวมราคาค่าขนส่งถึงประเทศไทยเป็นเงิน๒๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ บริษัทเซ็นทรัลอเมริกาไฮด์ส จำกัด ได้ส่งใบตราส่งให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยระบุว่าได้จัดส่งสินค้าที่สั่งซื้อโดยสายการเดินเรือของจำเลย เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๘ จากประเทศคอสตาริกาถึงประเทศไทย และผู้ส่งสินค้าได้ชำระค่าขนส่งเรียบร้อยแล้ว ต่อมาวันที่ ๓๐ตุลาคม ๒๕๓๘ จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ที่ ๑ ว่า สินค้าหนังสัตว์ที่โจทก์ที่ ๑สั่งซื้อถูกกักไว้ที่ท่าเรือลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะบรรทุกสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์น้ำหนักเกินพิกัด ให้โจทก์ที่ ๑ เสียค่าระวางขนถ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ ๒,๑๕๐ ดอลลาร์สหรัฐ โดยจำเลยอ้างว่าได้ติดต่อผู้ส่งสินค้าแล้ว แต่ผู้ส่งสินค้าไม่รับผิดชอบ โจทก์ทั้งสามขอให้บริษัทเซ็นทรัล-อเมริกาไฮด์ส จำกัด รับผิดชอบค่าระวางขนถ่ายที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นแต่บริษัทเซ็นทรัลอเมริกาไฮด์ส จำกัด ไม่ยอมรับผิดชอบ วันที่ ๒๔พฤศจิกายน ๒๕๓๘ โจทก์ที่ ๑ มีหนังสือถึงตัวแทนจำเลยในประเทศไทยแจ้งว่ายังไม่ได้รับสินค้าตามใบตราส่ง ขอให้จำเลยจัดการให้สินค้ามาถึงโจทก์ที่ ๑ โดยเร็วและอยู่ในสภาพดี วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๓๘ ตัวแทนจำเลยในประเทศไทยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ ๑ ทราบว่าสินค้าของโจทก์ที่ ๑ ที่ถูกกักอยู่ที่ท่าเรือลอสแองเจลลิสเริ่มเน่าเสียและสาธารณสุขของประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องการให้ทำลายหรือขนถ่ายสินค้าหนังสัตว์ดังกล่าวลงเรือออกจากประเทศสหรัฐอเมริกาไป โจทก์ที่ ๑ มีหนังสือให้จำเลยรับผิดชอบค่าเสียหายของโจทก์ที่ ๑ แต่จำเลยเพิกเฉย ต่อมาโจทก์ทั้งสามทราบว่าสินค้าหนังสัตว์ของโจทก์ทั้งสามได้ถูกทำลายแล้วการที่โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับสินค้าหนังสัตว์ที่สั่งซื้อเป็นผลมาจากความผิดและความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่รับขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทโดยไม่ตรวจสอบน้ำหนักของสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ว่าถูกต้องตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งและน้ำหนักสินค้าเกินพิกัดว่าด้วยระเบียบการขนส่งทางทะเลหรือไม่ จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม ความเสียหายของโจทก์ที่ ๑ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมธนาคาร ค่าประกัน และดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่วันที่ ๑๓ธันวาคม ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น๒๙,๗๖๒.๖๓ ดอลลาร์สหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนในวันฟ้อง ๑ ดอลลาร์สหรัฐต่อ ๒๖ บาท คิดเป็นเงินไทย ๗๗๓,๘๒๘.๓๘ บาท ความเสียหายของโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า ค่าดอกเบี้ย และค่าประกันภัย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๑,๐๔๒.๑๙ ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย ๘๐๗,๐๙๖.๙๔ บาทจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไปยังผู้ขายสินค้าคือวันที่ ๒๗กรกฎาคม ๒๕๓๘ จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๑ ปี ๙ เดือน ๑๗ วัน คิดเป็นดอกเบี้ย ๑๐๔,๓๒๘.๑๗ บาท และ ๑๐๘,๗๕๐.๗๙ บาท ตามลำดับค่าเสียหายของโจทก์ที่ ๑ รวมเป็นเงิน ๘๗๘,๑๕๖.๕๕ บาท ค่าเสียหายของโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ รวมเป็นเงิน ๙๑๕,๘๔๗.๗๓ บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน ๘๗๘,๑๕๖.๕๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ต่อปีในต้นเงิน ๗๗๓,๘๒๘.๓๘ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๑ และใช้เงินจำนวน ๙๑๕,๘๔๗.๗๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๘๐๗,๐๙๖,๙๔ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ทั้งสามไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าพิพาท และในขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสามไม่ได้เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในสินค้า ความเสียหายของสินค้าพิพาทไม่ได้เกิดจากความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของจำเลย ผู้ส่งสินค้าตกลงให้ทำการขนส่งในแบบซีวาย หรือเอฟซีแอล/เอฟซีแอล คือเป็นการขนส่งที่ผู้ส่งสินค้าไปขอรับตู้คอนเทนเนอร์จากผู้ขนส่งแล้วนำไปทำการบรรจุตรวจนับสินค้าเข้าตู้และปิดผนึกตู้ ณ โกดังสินค้าของผู้ส่งเอง โดยผู้ขนส่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ขนส่งจึงไม่ทราบและไม่สามารถตรวจสอบความแท้จริงของสินค้าภายในตู้ได้ ก่อนที่จำเลยจะนำตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกลงเรือเพื่อขนส่งมายังประเทศไทย ท่าเรือลอสแองเจลลิสได้ตรวจพบว่าน้ำหนักของสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์เกินกว่าที่กฎระเบียบของท่าเรือหรือศุลกากรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ จึงไม่อนุญาตให้บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ลงเรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบเสียก่อนจำเลยไม่มีอำนาจดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ได้เองโดยลำพัง จึงได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสามและผู้ส่งสินค้าทราบเพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวกับน้ำหนักของสินค้าในตู้ได้ถูกต้อง แต่โจทก์ทั้งสามและผู้ส่งสินค้าเพิกเฉย เป็นเหตุให้สินค้าตกค้างอยู่ที่ท่าเรือลอสแองเจลลิสเป็นเวลานานและเริ่มเน่าเสียเนื่องจากสภาพของสินค้าเอง ต่อมาสาธารณสุขของเมืองลอสแองเจลลิสได้มีคำสั่งให้จำเลยทำลายสินค้าดังกล่าวความเสียหายของสินค้าพิพาทเป็นผลจากความผิดของโจทก์ทั้งสามหรือผู้ส่งสินค้าและเพราะคำสั่งของสาธารณสุขของเมืองลอสแองเจลลิส ฟ้องโจทก์ทั้งสามเคลือบคลุม ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องมาสูงเกินความเป็นจริงและโจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าธรรมเนียมในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมธนาคาร ค่าประกันภัย และค่าดอกเบี้ยเงินกู้เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่โจทก์ทั้งสามทำขึ้นกับธนาคารและบริษัทประกันภัยเอง ไม่เกี่ยวกับการขนส่งและไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากสัญญารับขนของทำขึ้นตั้งแต่วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๘ หากมีการขนส่งจากเมืองลอนแองเจลลิสมายังประเทศไทยจะใช้เวลาอย่างช้าที่สุดประมาณ ๑ เดือน และผู้ขนส่งสามารถส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่งได้อย่างช้าที่สุดไม่เกินเดือนตุลาคม ๒๕๓๘แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นระยะเวลาเกือบ๒ ปี นับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดส่งมอบหรือกำหนดเวลาอันควรที่ผู้ขนส่งจะส่งมอบสินค้าที่ขนส่ง คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๖ จำเลยรับขนส่งสินค้าเพียง๒ ตู้คอนเทนเนอร์ มีน้ำหนักทั้งสิ้น ๔๕,๒๕๘ กิโลกรัม ดังนั้นหากจำเลยจะต้องรับผิดก็ไม่เกิน ๑,๓๕๗,๗๔๐ บาท ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๕๘ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์ทั้งสามนำสืบว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.๑ โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ประกอบกิจการโรงงานฟอกหนังสัตว์และจำหน่ายหนังสัตว์ที่ฟอกแล้ว ใช้ชื่อว่าโรงงานฟอกหนังหมินแซ โดยโจทก์ที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ปรากฏตามหนังสือแต่งตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการเอกสารหมาย จ.๑๕ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๘โจทก์ทั้งสามตกลงสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทเซ็นทรัลอเมริกาไฮด์ส จำกัดและได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไปยังบริษัทเซ็นทรัลอเมริกาไฮด์ส จำกัดผู้ขาย โดยโจทก์ที่ ๑ เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าหนังม้าจำนวน ๗๕๐ ผืน และหนังวัว จำนวน ๔๐๐ ผืน ราคารวมค่าขนส่งถึงประเทศไทยเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๔,๖๓๖ ดอลลาร์สหรัฐ ปรากฏตามสำเนาเลตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารหมาย จ.๔ โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าหนังวัว จำนวน ๘๐๐ ผืน ราคารวมค่าขนส่งถึงประเทศไทยเป็นเงิน ๒๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ปรากฏตามสำเนาเลตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารหมาย จ.๑๗ หลังจากนั้นบริษัทเซ็นทรัลอเมริกาไฮด์ส จำกัด ได้จัดส่งใบตราส่งเอกสารหมายจ.๖ ให้แก่โจทก์ที่ ๑ และจัดส่งใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๑๘ ให้แก่โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๖ และ จ.๑๘ มีข้อความระบุว่าสินค้าที่โจทก์ทั้งสามสั่งซื้อจะส่งมาโดยสายการเดินเรือเน็ดลอยด์คาตาจินา ในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๘ จากเมืองซานโฮเซ ประเทศคอสตาริกา มายังกรุงเทพมหานคร และผู้ส่งสินค้าได้ชำระค่าสินค้าแล้วต่อมาตัวแทนของจำเลยในประเทศไทยมีหนังสือแจ้งโจทก์ทั้งสามว่าสินค้าหนังสัตว์ที่โจทก์ที่ ๑ สั่งซื้อถูกกักไว้ที่ท่าเรือลอสแองเจลิส เนื่องจากตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าน้ำหนักเกินพิกัด ขอให้โจทก์ทั้งสามเสียค่าระวางขนถ่ายเพิ่ม ๒,๑๕๐ ดอลลาร์สหรัฐ โดยจำเลยอ้างว่าได้ติดต่อให้ผู้ส่งสินค้าชำระเงินส่วนที่เหลือแล้ว แต่ผู้ส่งสินค้าไม่ยอมชำระ ปรากฏตามสำเนาโทรสารเอกสารหมาย จ.๒๕ โจทก์ทั้งสามได้ติดต่อให้ผู้ขายรับผิดชอบค่าระวางขนถ่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว แต่ผู้ขายปฏิเสธ โจทก์ทั้งสามจึงแจ้งตัวแทนของจำเลยในประเทศไทยขอให้จำเลยรีบดำเนินการจัดส่งสินค้ามายังประเทศไทย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๘ และ จ.๒๖ตัวแทนของจำเลยในประเทศไทยมีหนังสือแจ้งโจทก์ทั้งสามว่า สินค้าของโจทก์ทั้งสามถูกกักอยู่ที่ท่าเรือลอสแองเจลิสเริ่มเน่าเสีย และกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสหรัฐอเมริกาต้องการให้ทำลายสินค้าดังกล่าวหรือขนถ่ายออกจากประเทศสหรัฐอเมริกาไป ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๙ และ จ.๒๗ โจทก์ทั้งสามแจ้งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๑๐ และ จ.๒๘ แต่จำเลยเพิกเฉย ต่อมาสินค้าหนังสัตว์ที่โจทก์ทั้งสามสั่งซื้อถูกทำลาย โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายเนื่องจากกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย เพราะจำเลยในฐานะผู้ขนส่งย่อมต้องทราบถึงกฎเกณฑ์พิธีการรวมถึงพิกัดน้ำหนักของแต่ละท่าเรือและมีหน้าที่ตรวจสอบน้ำหนักของสินค้าที่รับขนส่งให้ถูกต้องหรือไม่เกินพิกัดน้ำหนักสินค้าของแต่ละท่าเรือ โจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหายคือ ค่าธรรมเนียมในการปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ค่าสินค้า ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมธนาคารค่าประกันภัย และดอกเบี้ยเงินกู้ รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นประมาณ๒๙,๗๖๒ ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยในวันฟ้องประมาณ ๗๗๓,๘๒๘ บาทโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ได้รับความเสียหาย คือ ค่าธรรมเนียมเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ค่าสินค้า ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมธนาคาร และค่าประกันภัยคิดเป็นเงินไทยในวันฟ้อง ๘๒๔,๗๑๗.๐๙ บาท
จำเลยนำสืบว่า เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๘ บริษัทอาร์มาด้าเดอนาวิเกชั่นเอสเอ ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่เมืองซานโฮเซ ประเทศคอสตาริกา ได้ตกลงรับขนส่งสินค้าหนังม้าและหนังวัวให้แก่บริษัทอินเวอร์ชั่นเบลลาวิสต้าเดอเซ็นทรัลอเมริกาเอสเอ โดยจะมีการขนส่ง ๒ ทอดทอดแรกจากเมืองซานโฮเซมายังเมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเรือเน็ดลอยด์คาตาจิน่า และทอดที่สองจากเมืองลอสแองเจลิสมายังประเทศไทย โดยเรือเพรสซิเดนท์เคนเนดี้ สินค้าที่ขนส่งมีจำนวน ๒ตู้คอนเทนเนอร์ การขนส่งเป็นแบบ CY (Container Yard) หรือFCL/FCL (Full Container Load) ผู้ส่งสินค้าเป็นผู้นำตู้คอนเทนเนอร์จำนวน ๒ ตู้ ไปทำการบรรจุตรวจนับสินค้าเข้าตู้ ปิดผนึกปากตู้แล้วนำตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวไปบรรทุกลงเรือเน็ดลอยด์คาตาจิน่าที่เมืองซานโฮเซเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๘ เพื่อนำตู้คอนเทนเนอร์ไปบรรทุกลงเรือเพรสซิเดนท์เคนเนดี้ที่เมืองลอสแองเจลิสเพื่อขนส่งมายังประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง จำเลยหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทอาร์มาด้าเดอนาวิเกชั่นเอสเอไม่อาจทราบจำนวนน้ำหนัก หรือสภาพที่แท้จริงของสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสองตู้ได้ จึงได้บันทึกข้อสงวนไว้ในใบตราส่งว่า “Shipper’s Stow, Load and Count”ปรากฏตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๖ และ จ.๑๘ รายละเอียดของสินค้าที่ระบุในใบตราส่งทั้งสองฉบับเป็นการระบุตามที่ผู้ส่งสินค้าแจ้ง ก่อนที่จะมีการนำตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสองตู้บรรทุกลงเรือเพรสซิเดนท์เคนเนดี้ที่ท่าเรือลอสแองเจลิส เจ้าหน้าที่ท่าเรือลอสแองเจลิสได้ตรวจสอบน้ำหนักของสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสองตู้ ปรากฏว่าสินค้าที่บรรจุภายในตู้ทั้งสองตู้มีน้ำหนักเกินพิกัดที่แต่ละตู้จะรับได้ ท่าเรือลอสแองเจลิสจึงมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขน้ำหนักของสินค้าที่เกินพิกัดให้ได้เท่ากับพิกัดของตู้ตามระเบียบที่กำหนดไว้ จำเลยได้ติดต่อไปยังผู้ส่งสินค้าให้ดำเนินการแก้ไขหรืออนุญาตให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขน้ำหนักของสินค้าที่เกินพิกัดหลายครั้งแต่ผู้ส่งสินค้าเพิกเฉย จำเลยจึงแจ้งตัวแทนของจำเลยในประเทศไทยให้ติดต่อผู้ซื้อสินค้าทั้งสองราย คือโจทก์ที่ ๑ และโรงฟอกหนังหมินแซ ให้ดำเนินการแก้ไขหรืออนุญาตให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขน้ำหนักของสินค้าที่เกินพิกัดดังกล่าว ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๑แต่โจทก์ที่ ๑ และโรงงานฟอกหนังหมินแซปฏิเสธ อ้างว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้ส่งสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสองตู้ถูกกักตกค้างอยู่ที่ท่าเรือลอสแองเจลิสเป็นเวลานานจนทำให้สินค้าภายในตู้เริ่มเน่าเสีย สาธารณสุขของเมืองลอสแองเจลิสมีคำสั่งให้ทำลายสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสองตู้เสียการที่ตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสองตู้ถูกกักจนสินค้าเน่าเสียหายและถูกสั่งให้ทำลายเป็นเพราะความผิดของผู้ส่งสินค้าหรือโจทก์ที่ ๑ และโรงงานฟอกหนังหมินแซเอง ตัวแทนของจำเลยได้แจ้งเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้โจทก์ที่ ๑ และโรงงานฟอกหนังหมินแซทราบโดยตลอด ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๓ ถึง ล.๕ หากสินค้าไม่ถูกกักอยู่ที่ท่าเรือลอสแองเจลิสจะใช้เวลาเดินทางมายังประเทศไทยประมาณ ๓๐ วัน และมาถึงประเทศไทยประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๓๘
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามประการแรกมีว่า ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีตามประเด็นที่ได้กำหนดไว้เรียงกันไปทุกข้อหรือไม่ เห็นว่า การวินิจฉัยชี้ขาดคดีนั้นศาลย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยตามที่เห็นว่าสมควรตามความจำเป็นแห่งคดี เมื่อปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้และศาลได้กำหนดเป็นประเด็นไว้ ฉะนั้นถ้าหากได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้เป็นคุณแก่ฝ่ายจำเลยแล้วจะไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีในข้ออื่นเพราะแม้จะพิจารณาไปก็ไม่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลก็มีอำนาจที่จะวินิจฉัยเช่นนั้นได้โดยไม่จำต้องวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นที่กำหนดไว้ให้หมดทุกข้อ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามประการต่อไปมีว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๖ สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการเสียหายแห่งของที่รับขนในกรณีที่ไม่มีการส่งมอบของเลยให้นับอายุความ ๑ ปี ตั้งแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดส่งมอบของนั้นหรือล่วงเลยกำหนดเวลาอันสมควรส่งมอบ ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยสอดคล้องกันว่ามีการส่งสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งที่ท่าเรือซานโฮเซเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๘ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๑๘ การขนส่งจากท่าเรือซานโฮเซไปยังท่าเรือลอสแองเจลิสใช้เวลาประมาณ ๔ วัน และจากท่าเรือลอสแองเจลิสใช้เวลาเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครประมาณ ๑ เดือน และได้ความจากนางพรรณี ตั้งเรือนวงศ์ กรรมการผู้จัดการของโจทก์ที่ ๑ ว่าได้ตรวจสอบเอกสารทราบว่าเรือจะเดินทางมาถึงประเทศไทยประมาณต้นเดือนตุลาคม ๒๕๓๘ จึงไปติดต่อขอรับสินค้าพิพาทจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าเรือมาเทียบท่าแล้วแต่ไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทมาด้วย ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากโจทก์ที่ ๒ว่าได้รับแจ้งจากตัวแทนจำเลยในประเทศไทยว่าสินค้าจะมาถึงท่าเรือกรุงเทพประมาณกลางเดือนตุลาคม ๒๕๓๘ แสดงว่าในการขนส่งสินค้าพิพาท สินค้าพิพาทควรจะต้องมาถึงประเทศไทยและส่งมอบประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๓๘ ฉะนั้น อายุความจะต้องเริ่มนับแต่ช่วงเวลานั้นเมื่อนับแต่ช่วงเวลาดังกล่าวถึงวันฟ้องคือวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๐เป็นเวลาเกิน ๑ ปี แล้ว คดีของโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความฟ้องร้องในกรณีที่ขอให้รับผิดเมื่อไม่มีการส่งมอบสินค้าตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๖ ดังที่กล่าวข้างต้น ส่วนที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่ากรณีเป็นเรื่องที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขนโดยสิ้นเชิงจึงต้องนำอายุความทั่วไปคือ ๑๐ ปี มาบังคับนั้น ได้ความว่าจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ขนส่งสินค้าพิพาทมาช่วงหนึ่งแล้ว ก่อนที่สินค้าจะถูกกัก เพราะมีปัญหาเรื่องน้ำหนัก ข้อเท็จจริงจึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญารับขนโดยสิ้นเชิงดังที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เป็นคุณแก่ฝ่ายจำเลยแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.