คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2885/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการสาขามีหน้าที่ดูแลงานของธนาคารจำเลยที่ 1สาขาดังกล่าวทุก ๆ ด้าน มีอำนาจหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาพนักงานทุกคนในสาขาต้องคอยควบคุมดูแลให้พนักงานทุกคนทำงานด้วยความเรียบร้อยและถูกต้องมิให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้าและบุคคลภายนอก ไม่อาจปัดความรับผิดชอบให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นพนักงานและพนักงานคนอื่น การที่ปล่อยให้จำเลยร่วมนำเช็คพิพาทที่ห้ามเปลี่ยนมือและขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออก ซึ่งโจทก์ออกให้เพื่อชำระหนี้แก่บุคคลอื่นเรียกเก็บเงินและนำเข้าบัญชีเงินฝากของตนโดยผิดขั้นตอนไม่เป็นไปตามระเบียบแล้วเป็นผู้รับเงินและเบิกจ่ายเงินไป โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าตนใช้ความระมัดระวังควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยร่วมและพนักงานที่เกี่ยวข้องตามสมควรแล้ว ต้องถือว่าได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1ผู้เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย
ส่วนการที่จำเลยร่วมและ น. ร่วมกันนำเช็คของโจทก์หลายฉบับ รวมทั้งเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารซึ่งโจทก์ได้ดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลทั้งสองฐานฉ้อโกงและยักยอก แล้วต่อมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อระงับข้อพิพาทในทางอาญา ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยร่วมและ น. หามีผลถึงความรับผิดของจำเลยทั้งสองซึ่งมีมูลจากการละเมิดและไม่ได้ร่วมตกลงประนีประนอมยอมความด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือนเมษายน 2535 ถึงเดือนกันยายน 2535 พนักงานของโจทก์ออกใบสำคัญซื้อตั๋วเครื่องบิน อันเป็นเท็จเพื่อให้โจทก์ชำระค่าตั๋วเครื่องบินหลายครั้ง โจทก์หลงเชื่อได้ชำระค่าตั๋วเครื่องบินดังกล่าวด้วยเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ จำนวน 15 ฉบับ เป็นเช็คขีดคร่อมระบุชื่อบริษัทตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบินต่าง ๆ เป็นผู้รับเงินและมีคำสั่งว่า เอซี เปยี โอนลี่ ซึ่งหมายความว่า ห้ามเปลี่ยนมือ เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดใช้เงิน นางพรพิกุล พิชยพาณิชย์ ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้นำเช็คทั้งหมดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนางพรพิกุลเอง จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการสาขาของจำเลยที่ 1 ได้กระทำการโดยสุจริตและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มิได้ตรวจสอบเช็คแต่ละฉบับว่าเป็นเช็คขีดคร่อมระบุชื่อผู้รับเงินและมีคำสั่งห้ามเปลี่ยนมือกลับนำเช็คแต่ละฉบับเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนางพรพิกุล ซึ่งมิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่จ่ายเงินให้แก่นางพรพิกุลไป การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะเมื่อธนาคารตามเช็คจ่ายเงินไปตามเช็คที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บแล้ว ได้คิดดอกเบี้ยแก่โจทก์ในฐานะลูกหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอัตราร้อยละ 12 ต่อปีของเช็คแต่ละฉบับ จำเลยที่ 2 ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างและตัวแทนเรียกเก็บเงินตามเช็คต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์คำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงินของเช็คแต่ละฉบับนับตั้งแต่วันที่ธนาคารตามเช็คจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 716,807 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 716,807 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์มิได้แสดงโดยชัดแจ้งว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ จ่ายเงินตามเช็คทั้ง 15 ฉบับ ตั้งแต่เมื่อใด โจทก์ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้อย่างไรและเมื่อใด มีการค้างชำระต้นเงินตามเช็คทั้ง 15 ฉบับจำนวนเท่าใด ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบและหลงข้อต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมจำเลยทั้งสองไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยทั้งสองเป็นเพียงคนกลางในการเรียกเก็บเงินตามเช็ค และได้กระทำโดยสุจริตตามหน้าที่และธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติของธนาคาร มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ มูลหนี้ตามฟ้องระงับแล้วเพราะมีการแปลงหนี้ใหม่ และมีการชำระหนี้ตามมูลละเมิดทั้งหมดให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์รู้ถึงการละเมิดตั้งแต่วันที่ธนาคารตามเช็คได้จ่ายเงินตามเช็คเมื่อประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน 2535 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2538 เกินกำหนดอายุความ 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ความเสียหายที่โจทก์ฟ้องมิใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง แต่เกิดจากการสั่งจ่ายเช็คเกินกว่าเงินที่อยู่ในบัญชีของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ12 ต่อปี หากมีสิทธิก็คิดได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางพรพิกุลหรือลภนพร พิชยพาณิชย์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่าถ้าศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแพ้คดี จำเลยทั้งสองอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่นางพรพิกุลได้ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์ฟ้องในมูลละเมิดเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่ามีการเรียกเก็บเงินตามเช็ค คดีโจทก์จึงขาดอายุความ หนี้ตามเช็คทั้ง 15 ฉบับระงับไปโดยการตกลงประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเป็นคดีนี้อีกโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ12 ต่อปี หากมีสิทธิก็ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 348,868บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 2เป็นผู้จัดการสาขาหัวหมากของจำเลยที่ 1 ระหว่างเดือนเมษายน 2535 ถึงเดือนกันยายน 2535 นายนรินทร์ พีชยพาณิชย์ พนักงานของโจทก์ได้ทำการทุจริตออกใบสำคัญซื้อตั๋วเครื่องบินอันเป็นเท็จเพื่อให้โจทก์ชำระหนี้ โจทก์หลงเชื่อและออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ รวม 15 ฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าตั๋วเครื่องบินดังกล่าวมอบให้แก่นายนรินทร์ โดยเช็คทั้งหมดเป็นเช็คขีดคร่อม ระบุชื่อบริษัทตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบินเป็นผู้รับเงิน ขีดฆ่าหรือผู้ถือ และมีคำว่าเอซี เปยี โอนลี่ ซึ่งหมายความว่า ห้ามเปลี่ยนมือ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ จำเลยร่วมซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 สาขาหัวหมากได้นำเช็คทั้ง 15 ฉบับ ให้จำเลยที่ 1 สาขาหัวหมากเป็นตัวแทนเรียกเก็บเงินตามเช็คเพื่อเข้าบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หมายเลขบัญชีที่ 116-1-02626-7 ของจำเลยที่ 1 สาขาสุขุมวิท 35 ซึ่งเป็นบัญชีของจำเลยร่วมเอง และจำเลยร่วมได้รับเงินตามเช็คทั้ง 15 ฉบับไปแล้ว ต่อมาโจทก์ได้แจ้งความดำเนินคดีแก่นายนรินทร์ที่ทำการทุจริตรวมทั้งจำเลยร่วม และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายนรินทร์และจำเลยร่วมเป็นคดีอาญาข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและยักยอกตามลำดับหลายคดีต่อศาลแขวงดุสิต ต่อมาได้มีการตกลงประนีประนอมยอมความกันตามบันทึกการตกลง รายงานกระบวนพิจารณาของศาลแขวงดุสิต รายงานประจำวันของถอนคำร้องทุกข์ และหนังสือประนีประนอมยอมความ เอกสารหมาย ล.2 และ ล.4 ถึง ล.6 โจทก์จึงมาฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินค่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ที่โจทก์ต้องถูกธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ เรียกเก็บเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเนื่องมาจากการนำเช็คทั้ง 15 ฉบับ เข้าเรียกเก็บเงินในบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย และจำเลยที่ 1 นายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่อย่างไร และมีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยร่วมอย่างไร จำเลยที่ 2 มีหน้าที่หาลูกค้าเงินฝากและสินเชื่อเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลการรับฝากเช็คเข้าบัญชีของลูกค้าซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานแคชเชียร์และสมุห์บัญชีรับผิดชอบสุดท้ายนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการสาขาที่เหตุละเมิดในคดีนี้เกิดขึ้น จึงเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูงสุด มีหน้าที่ดูแลงานของธนาคารจำเลยที่ 1 ในสาขานี้ทุก ๆ ด้าน โดยมีอำนาจหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาพนักงานทุกคนในสาขา ต้องคอยควบคุมดูแลให้พนักงานทุกคนทำงานด้วยความเรียบร้อยและถูกต้องมิให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้าและบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 ไม่อาจปัดความรับผิดให้จำเลยร่วมและพนักงานคนอื่นการที่จำเลยที่ 2 ปล่อยให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสาขาที่ตนดูแลรับผิดชอบนำเช็คที่โจทก์ออกให้เพื่อชำระหนี้แก่บุคคลอื่นอันเป็นเช็คห้ามเปลี่ยนมือและขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออก เรียกเก็บเงินและนำเข้าบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของจำเลยร่วมซึ่งมิใช่ผู้รับเงินตามเช็คที่โจทก์ระบุชื่อไว้โดยผิดขั้นตอนไม่เป็นไปตามระเบียบ แล้วจำเลยร่วมเป็นผู้รับเงินและเบิกจ่ายเงินตามเช็คนั้นไป โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยร่วมและพนักงานที่เกี่ยวข้องตามสมควรแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติงานตามหน้าที่ให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายเป็นการกระทำละเมิดโจทก์ ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นต่อโจทก์ด้วยเช่นกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปว่า เมื่อจำเลยร่วมและนายนรินทร์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์แล้วจะทำให้มูลหนี้ละเมิดระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองระงับไปหรือไม่ เห็นว่า มูลละเมิดที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดเกิดจากการกระทำประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 พนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ออกเช็คเพื่อชำระหนี้แก่ผู้อื่นโดยเป็นเช็คห้ามเปลี่ยนมือ และขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออกแต่เช็คนั้นถูกนำไปเรียกเก็บยังธนาคารจำเลยที่ 1 ในบัญชีจำเลยร่วมซึ่งมิใช่ผู้รับเงินตามเช็คที่โจทก์สั่งจ่าย แล้วจำเลยร่วมเป็นผู้รับเงินและเบิกจ่ายเงินตามเช็คไป ส่วนการที่จำเลยร่วมและนายนรินทร์ได้ร่วมกันนำเช็คของโจทก์หลายฉบับรวมทั้งเช็คที่เป็นมูลละเมิดในคดีนี้ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารโจทก์จึงได้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยร่วมและนายนรินทร์ฐานฉ้อโกงและยักยอกแล้วต่อมาโจทก์ จำเลยร่วมและนายนรินทร์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อระงับข้อพิพาทในทางอาญาในความผิดดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ เพื่อให้จำเลยร่วมและนายนรินทร์ไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญาต่อไปนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยร่วมและนายนรินทร์ หาได้มีผลถึงความรับผิดของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการละเมิดและไม่ได้ร่วมตกลงประนีประนอมยอมความด้วยไม่ เพราะเป็นคนละเรื่องกันโดยแท้ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงไม่พ้นความรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 13,513.11 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินตามเช็คฉบับที่ 2 เลขที่ 7125796จำนวนเงิน 95,380 บาท และเช็คฉบับที่ 3 เลขที่ 7125800 จำนวนเงิน 197,600บาท นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2535 เช็คฉบับที่ 5 เลขที่ 6796524 จำนวนเงิน48,925 บาท เช็คฉบับที่ 6 เลขที่ 6796549 จำนวนเงิน 399,900 บาท เช็คฉบับที่ 7 เลขที่ 6796523 จำนวนเงิน 363,000 บาท และเช็คฉบับที่ 8 เลขที่ 8038534 จำนวนเงิน 73,890 บาท นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2535 กับเช็คฉบับที่ 10 เลขที่ 8038654 จำนวนเงิน 79,120 บาท นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share