แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระหว่างพิจารณา ธนาคารโจทก์ได้จดทะเบียนควบเข้ากับธนาคาร ก.เป็นบริษัทใหม่ ธนาคารบริษัทใหม่ย่อมได้ไปทั้งสิทธิ และความรับผิดชอบบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1243 ธนาคารบริษัทใหม่ย่อมเข้ามาดำเนินคดีแทน ธนาคารโจทก์ต่อไปได้ ไม่จำต้องไปฟ้องเป็นคดีขึ้นมาใหม่
แม้ฟ้องโจทก์จะไม่ได้ระบุในช่องคู่ความว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จักการมรดก แต่โจทก์ก็ได้บรรยายในฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกนาย จ. ได้ทำหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน เป็นประกัน และในสัญญาจำนองกับในข้อตกลงต่อท้ายสัญญา ก็ระบุชื่อจำเลยที่ 3 ผู้จัดการมรดกนาย จ.เป็นคู่สัญญากับโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกนาย จ.
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรค 2 ให้สิทธิแก่คู่ความระบุพยานเพิ่มเติมได้เสมอ ในเมื่อฝ่ายที่สืบก่อนยังสืบไม่เสร็จ เมื่อโจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ระบุพยานเอกสารเพิ่มเติมหลังจากที่ได้มีการสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายที่นำสืบก่อนไปบ้างแล้ว ย่อมจะส่งสำเนาเอกสารให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยาน 3 วันไม่ได้ จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ไม่ได้บังคับถึงกรณีที่คู่ความได้รับอนุญาตจากศาลให้ระบุพยานเพิ่มเติมหลังจากวันสืบพยานแล้ว
หนี้ที่รับสภาพหนี้แล้ว เมื่อไม่มีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ก็ยังต้องชำระดอกเบี้ยตามกฎหมายหลังที่รับสภาพหนี้แล้ว
จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกนาย จ. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขออนุญาตเอาที่ดินมรดก จำนองต่อธนาคารโจทก์ เพื่อค้ำประกันในการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของกองมรดกจะเข้าทำงานธนาคารโจทก์ ศาลได้ทำการไต่สวน ทายาททุกคนไม่คัดค้าน เมื่อศาลอนุญาตแล้ว จำเลยที่ 3 จึงได้ทำสัญญาจำนองกับธนาคารโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกนาย จ. ดังนี้ จำเลยที่ 3 จะอ้างว่าสัญญาจำนองไม่มีผลผูกพันตนในฐานะผู้จัดการมรดก ย่อมฟังไม่ขึ้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำเลยที่ ๒ เป็นคอมปราโดร์ มีสัญญว่าจะรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากการเปิดเครดิตสั่งสินค้า ฯ และจำเลยที่ ๒ ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ กระทำการแทน จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้จัดการมรดกนายจีกิมหยง และในฐานะส่วนตัวเข้าทำสัญญาจำนองกับธนาคารโจทก์ ๒ ฉบับ เพื่อประกันการเสียหาย ที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในระหว่างปฏิบัติงาน จำเลยที่ ๑ ได้ละเมิดข้อสัญญาจ้าง จ่ายเงินไปเกินขอบเขตอำนาจ และฝ่าฝืนข้อบังคับของธนาคารโจทก์ จำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือรับรองการชำระหนี้ให้ไว้กับธนาคารโจทก์เป็นเงิน ๑๗,๔๔๓,๖๗๐.๕๘ บาท โดยจำเลยที่ ๒ ได้รับรองค้ำประกันในฐานะคอมปราโดร์ไว้ด้วย และจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ เป็นลูกนี้เบิกเงินเกินบัญชีธนาคารโจทก์ด้วย ต่อมาจำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์บ้างแล้ว คงเป็นหนี้ที่จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดชอบเป็นเงิน ๑๔,๙๑๑,๘๓๑.๕๖ บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้หนี้และไถ่จำนองในเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงิน ๔,๖๙๔,๗๖๒.๔๖ บาท (ของลูกหนี้ ๘ ราย) ในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี กับในต้นเงิน ๑๐,๒๑๗,๐๖๘.๖๐ บาท อัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี โดยวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ ถ้าขายทอดตลาดใช้หนี้จำนองไม่พอ ให้โจทก์มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทองตลาดได้จนครบ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ส่วนตัวจำเลยที่ ๑ หนี้ตามหนังสือรับรองการชำระหนี้ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามลูกหนี้ ไม่ชำระภายในเวลาอันสมควร ตามเงื่อนไขของการรับรองของจำเลย ทั้งลูกหนี้มีตัวอยู่และพอชำระหนี้ได้ จำเลยยังไม่มีหน้าที่ ต้องชำระหนี้เหล่านี้ให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การ่า โจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างจำเลยที่ ๒ ไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ หมดอำนาจในการทวงถาม และเรียกชำระหนี้ที่จำเลยที่ ๒ ประกันไว้กับโจทก์ โจทก์จึงให้จำเลยที่ ๒ รับผิดชอบในหนี้เหล่านี้ไม่ได้ และหนี้ที่โจทก์ฟ้องมีหลายรายที่ลูกหนี้กับโจทก์ได้ทำความตกลงกันใหม่ ให้มีการผ่อนชำระหนี้ จึงเรียกร้องจากจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ และโจทก์ควรเรียกร้องจากลูกหนี้ก่อน เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ จึงจะมาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันได้
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า สัญญาจำนองฉบับแรกไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยที่ ๓ กระทำไปนอกสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก จึงไม่ผูกมัดกองมรดก และโจทก์ต้องฟ้องจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้จัดการามรดก จะฟ้องในฐานะส่วนตัวไม่ได้
ก่อนชี้สองสถาน ธนาคารมณฑล จำกัด โจทก์ยื่นคำร้องว่า ธนาคารมณฑล จำกัด ได้จดทะเบียนควบเข้ากับธนาคารเกษตร จำกัด เป็นบริษัทใหม่ใช้ชื่อว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด ตั้งแต่วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๐๙ นายจำรัส จตุรภัทร เป็นกรรมการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำกัดเป็นผู้มีอำนาจ จึงแต่งทนายใหม่เพื่อธนาคารกรุงไทย จำกัด ดำเนินคดีเป็นโจทก์ต่อไป ศาลชั้นต้น อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินและ ไถ่จำนองจากธนาคารโจทก์เป็นเงิน ๑๔,๙๑๑,๘๓๑.๕๖ บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในต้นเงิน ๔,๖๙๔,๗๖๒.๙๖ บาท ของลูกหนี้ ๘ ราย ในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี กับในต้นเงิน ๑๐,๒๑๗,๐๖๘.๖๐ บาท อัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี โดยวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตามประเพณีของธนาคารนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เว้นแต่จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดในเงินที่จำเลยที่ ๑ เบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน ๑๕,๔๗๔.๙๘ บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในเงินจำนวนนี้ ตามอัตราและกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้น และจำเลยที่ ๓ รับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกนายจีกิมหยง ในวงเงินไม่เกิน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท และในฐานะส่วนตัวในวงเงินไม่เกิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท ถ้าต้องเอาทรัพย์สินที่จำเลยที่ ๓ จำนองทั้งสองฐานะออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอที่จะต้องใช้หนี้จำนองตามจำนวน ตามจำนวนที่จำเลยที่ ๓ ต้องรับผิดก็ให้เอาทรัพย์อื่นของจำเลยที่ ๓ ทั้งสองฐานะขายทอดตลาดใช้จนครบหนี้จำนอง ถ้าหากยังไม่พอชำระหนี้อยู่อีก ก็ให้โจทก์มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออกขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้จนครบ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่ธนาคารโจทก์ ๑๓,๖๗๘,๗๙๓.๒๓ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงิน ๘,๙๖๓,๐๔๗.๔๒ บาท (หนี้ส่วนตัวจำเลยที่ ๒) อัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี กับในต้นเงิน ๔,๖๕๕,๐๗๒.๘๗ บาท (ของลูกหนี้รวม ๘ ราย นอกจากรายจำเลยที่ ๒ แบะนายจูเจียมฝ่อ) อัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๐๗ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ และในต้นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท (หนี้เงินกู้รายนายจูเจียมฝ่อ) อัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙ จนกว่าจะชำระเสร็จ เว้นแต่จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดในวงเงินที่จำเลยที่ ๑ เบิกเงินเกินบัญชี (ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ และธนาคารโจทก์ไม่อุทธรณ์) โดยถือว่าเงินที่ลูกหนี้ส่งเข้าบัญชีเงินฝากดังกล่าวเป็นการชำระหนี้แก่ธนาคารโจทก์แล้วส่วนหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป้นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
(๑) เรื่องอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด บริษัทใหม่ เข้ามาดำเนินคดีแทนธนาคารมณฑล จำกัดต่อไป เป็นผลเนื่องมาจากได้จดทะเบียนควบเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมาซึ่งบริษัทใหม่ย่อมได้สิทธิและความรับผิดชอบของบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันทั้งสิ้น ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔๓ ไม่จำต้องไปฟ้องเป็นคดีขึ้นมาใหม่ และบริษัทใหม่คือธนาคารกรุงไทย จำกัด ก็ได้แต่งทนายความเข้ามาใหม่ ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่อไปภายในเวลาอันสมควรหลังระยะเวลาที่จดทะเบียนควบเพียง ๒ เดือนการที่จำเลยจะให้บริษัทใหม่ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ ไม่มีบัญญัติเช่นนั้น ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
(๒) เกี่ยวกับสัญญาจำนองฉบับแรก ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุในช่องคู่ความว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้จัดการมรดก แต่โจทก์ก็ได้บรรยายในฟ้องข้อ ๔ ว่า “จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้จัดการมรดกนายจีกิมหยงได้ทำหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันรวม ๑๗ ตราจอง” และในสัญญาจำนองเอกสาร จ.๑๐ กับในข้อตกลงต่อท้ายสัญญานั้นก็ระบุชื่อ “นายลม้าย ฉัยยากุล ผู้จัดการมรดกนายจีกิมหยง” เป็นคู่สัญญากับโจทก์ จึงถือได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกนายจีกิมหยง ซึ่งต้องรับผิดอันมีผลบังคับตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบด้วยรูปคดี
(๓) เรื่องโจทก์ส่งสำเนาเอกสารใบทวงหนี้ที่อ้างเพิ่มเติมครั้งที่ ๓ จะเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๐ หรือไม่นั้นเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๘ วรรค ๒ ให้สิทธิแก่คู่ความระบุพยานเอกสารเพิ่มเติมหลังจากที่ได้มีการสืบพยานโจทก์ ซึ่งเป็นฝ่ายที่นำสืบก่อนไปแล้ว ย่อมจะส่งสำเนาเอกสารให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยาน ๓ วันไม่ได้ จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๐ ไม่ได้บังคับถึงกรณีที่คู่ความได้รับอนุญาตจากศาลให้ระบุพยานเพิ่มเติมหลังจากวันสืบพยานแล้ว ทั้งโจทก์ก็ได้ส่งสำเนาให้จำเลยก่อนวันสืบพยานนัดต่อไปถึง ๖ วัน และในขณะนั้นโจทก์ก็กำลังสืบ นายชัยยะ จูฑะพุทธิ ทนายความซึ่งเป็นผู้ทำและออกหนังสือทวงหนี้ไปยังบรรดาลูกหนี้อันเกี่ยวข้องกับเอกสารที่โจทก์อ้างเพิ่มเติมนั้นโดยตรง จำเลยยังมีโอกาซักค้านพยานปากนี้อยู่ จะกล่าวอ้างว่า ทำให้จำเลยเสียเปรียบ หรือเสียหายในเชิงคดี จึงเป็นเรื่องไร้เหตุผล
(๔) โจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในหนังสือรับรองการชำระหนี้ ตามเอกสาร จ.๔ และ จ.๖ โดยสมบูรณ์แล้ว
(๕) ที่จำเลยฎีกาว่า หนี้บางรายที่จำเลยรับสภาพหนี้แล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยภายหลังรับสภาพหนี้แล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อไม่มีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตามกฎหมาย
(๖) ที่จำเลยฎีกาว่า หนี้ที่จำเลยที่ ๑ ให้กู้ไปส่วนมากอยู่ในอำนาจ ที่จำเลยที่ ๑ ได้รับมอบหมายจากธนาคารโจทก์ตามสัญญาจ้าง และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้ทุจริต จำเลยทั้งสองไม่ควรต้องรับผิด ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย เพราะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแต่ขั้นต้น จำเลยโต้แย้งว่าได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การของจำเลยที่ ๑ ข้อ ๔ แล้ว ศาลฎีกาได้ตรวจดูคำให้การนั้นแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นต่อสู้ไว้อย่างไร ฎีกาจำเลยจึงผิดความจริงศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
(๗) โจทก์บอกเลิกสัญญาคอมปราโดร์กับจำเลยที่ ๒ ชอบแล้ว
(๘) ในประเด็นที่ว่าสัญญาจำนองฉบับแรกมีผลบังคับจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้จัดการมรดกหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ ๓ เป็นผู้จัดการมรดกนายจีกิมหยงตามคำสั่งศาล จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นบุตรนายจีกิมหยง ก่อนที่จำเลยที่ ๓ จะทำสัญญาจำนองฉบับแรกกับธนาคารโจทก์ จำเลยที่ ๓ ได้ไปยื่นคำร้องในฐานะผู้จัดการมรดกนายจีกิมหยงต่อศาลจังหวัดสงขลา ขออนุญาตเอาที่ดินมรดก ๑๗ แปลงจำนองต่อธนาคารโจทก์ เพื่อค้ำประกันในการที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นทายาทของกองมรดกจะเข้าทำงานธนาคารโจทก์ ศาลได้ทำการไต่สวน ทายาททุกคนก็ไม่คัดค้าน เมื่อศาลอนุญาตแล้ว จำเลยที่ ๓ จึงได้มาทำสัญญาจำนองกับธนาคารโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกนายจีกิมหยง คำสั่งศาลดังกล่าวนั้นมิได้ถูกยกเลิกเพิกถอน จำเลยที่ ๓ จะมากล่าวอ้างในชั้นนี้ว่า สัญญาจำนองไม่มีผลผูกพันตนในฐานะผู้จัดการมรดกจึงฟังไม่ได้
(๙) สัญญาจำนองค้ำประกันหนี้สินเบิกเงินเกินบัญชีและหนี้อื่น ๆ ด้วย
พิพากษายืน