คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 ดังนั้น คู่ความจะขอสืบพยานบุคคลแทนเอกสารหรือนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารสัญญาเช่าซื้อมิได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง คดีนี้โจทก์ได้นำสืบโดยส่งต้นฉบับสัญญาเช่าซื้อเป็นพยาน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากโจทก์จริง ส่วนจำเลยร่วมถูกเรียกเข้ามาในคดีโดยมิได้ต่อสู้ว่าเอกสารสัญญาเช่าซื้อปลอม ไม่สมบูรณ์ฯ…แต่ประการใด จำเลยร่วมจะอ้างคำเบิกความของ พ. กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 หรือพยานบุคคลอื่นมาหักล้างเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาเช่าซื้อซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อมิได้ ต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ประโยชน์และมีสิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบ ตลอดจนต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อ ความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแก่รถยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัย ถึงแม้จะให้ผู้อื่นนำรถยนต์ไปใช้ หรือชำระค่าเช่าซื้อ เบี้ยประกันแทน ก็หาทำให้เสียสิทธิหรือหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาไม่ จำเลยร่วมต้องผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 และต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าขาดประโยชน์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๒๑ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว และให้ชำระค่าขาดประโยชน์เดือนละ ๒๓,๕๖๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเบี้ยปรับ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าเบี้ยประกันภัย เป็นเงิน ๑๒๒,๗๗๘.๔๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๒๑ ต่อปี ของต้นเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน ๒๓,๓๔๒.๕๖ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองขอให้เรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ซึ่งรับประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า สัญญาประกันภัยเป็นโมฆะเพราะจำเลยที่ ๑ ไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อ จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยร่วมชำระราคารถยนต์ ๓๓๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และจำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยให้จำเลยร่วมรับผิด ๒,๗๕๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุก ยี่ห้ออีซูซุ จากโจทก์ราคา ๕๖๕,๔๒๐.๕๖ บาท จะต้องชำระเงินค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๓๘ ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ. ๘ มีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้กับจำเลยร่วม มีโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ต่อมาจำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายและส่งรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่อาจคืนรถยนต์ให้แก่โจทก์ได้ เพราะรถยนต์ดังกล่าวถูกคนร้ายลักไปตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๗ จึงยังอยู่ในระหว่างระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยร่วมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อที่ต้องทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๒ ดังนั้น คู่ความจะขอสืบพยานบุคคลแทนเอกสารหรือนำสืบพยานบุคคแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารสัญญาเช่าซื้อมิได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ วรรคสอง กล่าวคือต้นฉบับสัญญาเช่าซื้อสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย พยานเอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด คดีนี้โจทก์ได้นำสืบส่งต้นฉบับสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ. ๘ เป็นพยาน จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การรับว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากโจทก์จริง ส่วนจำเลยร่วมถูกเรียกเข้ามาในคดีโดยมิได้ต่อสู้ว่าเอกสารสัญญาเช่าซื้อปลอม ไม่สมบูรณ์ฯ… แต่ประการใด จำเลยร่วมจะอ้างคำเบิกความของนางพงษ์ลดา กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ ๑ หรือพยานบุคคลอื่นมาหักล้างเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาเช่าซื้อซึ่งระบุว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้เช่าซื้อมิได้ ต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมาข้างต้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ ๑ ย่อมมีสิทธินำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ประโยชน์และมีสิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์เมื่อจำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อครบ ตลอดจนต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อ ความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแก่รถยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัยถึงแม้จะให้ผู้อื่นนำรถยนต์ไปใช้ หรือชำระค่าเช่าซื้อเบี้ยประกันแทนก็หาทำให้เสียสิทธิหรือหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาไม่ จำเลยร่วมจึงต้องผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้กับจำเลยที่ ๑ และต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่จำเลยร่วมฎีกาว่า จำเลยร่วมไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และจำเลยที่ ๑ จึงฟังไม่ขึ้น
จำเลยร่วมฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า การโอนวัตถุที่เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๗๕ ผู้โอนไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ครอบครองอาจเป็นผู้โอนก็ได้และการโอนเช่นนี้หากช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้น สัญญาประกันภัยย่อมเป็นโมฆะ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยร่วมมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยร่วมทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share