คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อกล่าวหาของจำเลยที่ว่า นายหิรัญผู้พิพากษาได้ร่วมรับประทานเลี้ยงกับนางนิภาโจทก์ ซึ่งนายหิรัญตัดสินให้ชนะคดี ที่ร้านข้างศาลในตอนเย็นวันตัดสินนั้น เป็นความเท็จ และ จำเลยได้ร้องเรียนความดังกล่าวต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม และไปยืนยันให้ถ้อยคำต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชานายหิรัญในการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัยแก่นายหิรัญ เช่นนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการแจ้งข้อความเท็จโดยเจตนาซึ่งอาจทำให้นายหิรัญเสียหายเป็นความผิดตามมาตรา 137 ยิ่งกว่านั้นข้อความที่จำเลยแจ้งเท็จดังกล่าว ยังมีความหมายไปในทางหาว่านายหิรัญประพฤติตนไม่สมควร เป็นไปในทำนองพิพากษาคดีความไปโดยไม่สุจริตเป็นการหมิ่นประมาทนายหิรัญผู้พิพากษาในการพิพากษาคดีอันเป็นความผิดตามมาตรา 198 และเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความแก่นายหิรัญตามมาตรา 326 อีกด้วย กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตาม มาตรา 329(1) เพราะจำเลยมีเจตนาแกล้งกล่าวข้อความเท็จโดยไม่สุจริต
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า ผู้รับแจ้งข้อความอันเป็นเท็จนั้นจะต้องเป็นพนักงานสอบสวน แต่ย่อมหมายถึงเจ้าพนักงานโดยทั่วไป เมื่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่สอบสวนความผิดทางวินัยกับนายหิรัญ การที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 สอบสวนจำเลย จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงาน เมื่อจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ซึ่งอาจทำให้นายหิรัญเสียหาย จึงเป็นความผิดตามมาตรา 137

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยกับพวกถูกนางนิภาฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทราโดยนายหิรัญผู้พิพากษาเป็นเจ้าของสำนวนพิพากษาให้นางนิภาชนะ ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2505 จำเลยกับพวกได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมว่า เมื่อใกล้เวลาที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราจะตัดสินคดีดังกล่าว พยานของนางนิภาโจทก์ได้ท้าทายอวดถึงผลการตัดสินคดีว่านางนิภาเสียเงินให้ผู้พิพากษา 10,000 บาทผู้พิพากษารับจะช่วยให้นางนิภาชนะคดี และคนของโจทก์ได้ท้าพนันกับบุคคลอื่นโดยเปิดเผย จำเลยมิได้เชื่อถือนัก ฯลฯ แต่ในวันตัดสินศาลได้พิพากษาให้นางนิภาชนะคดี แล้วตอนเย็นวันนั้นเอง ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนกับพนักงานศาลหลายนายพร้อมด้วยนางนิภาได้เปิดการเลี้ยงกันในภัตตาคารข้างศาล ฯลฯ ซึ่งข้อความที่จำเลยร้องเรียนดังกล่าวไม่เป็นความจริง ปลัดกระทรวงยุติธรรมได้ส่งหนังสือของจำเลยให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ผู้บังคับบัญชานายหิรัญทำการสอบสวนต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2505 จำเลยได้ให้ถ้อยคำเท็จแก่นายสวิง ลัดพลีอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ผู้ทำการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ทำนองดังกล่าวข้างต้น และได้มีการจดบันทึกข้อความเท็จนั้นลงในเอกสารราชการ ฯลฯ ในชั้นนั้น จำเลยให้ถ้อยคำด้วยว่า ฯลฯ ในวันที่ศาลพิพากษาคดีแพ่งดังกล่าว เวลาประมาณบ่าย 4 โมงเศษ จำเลยกับนายสี นายเที่ยงเดินไปตามตลาดถึงร้านขายอาหารข้างศาลจำเลยเห็นคนนั่งกินอาหารกันอยู่ที่โต๊ะหลายคน มีนางนิภา นายหิรัญผู้พิพากษา และเสมียนศาล 5 คน จำเลยเห็นดังนั้นจึงบอกแก่นายเที่ยงนายสีว่า เขารับประทานกันอย่างนี้ คดีของเราก็แพ้เป็นจริงดังที่นายมณีพนัน ความจริงนายหิรัญมิได้รับเงิน มิได้รับจะช่วยให้นางนิภาชนะคดีนายมณีมิได้ท้าพนันกับจำเลยหรือบอกว่าให้เงิน 10,000 บาทแก่นายหิรัญ การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการร้องเรียนเท็จ ใส่ความหมิ่นประมาทนายหิรัญและศาลจังหวัดฉะเชิงเทราต่อบุคคลที่ 3 โดยโฆษณาด้วยเอกสารและจำเลยบังอาจแจ้งให้เจ้าหน้าที่จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 137, 198, 267, 326, 328, 90, 91

จำเลยให้การปฏิเสธ อ้างว่าการกระทำของจำเลยดังโจทก์อ้างเป็นความจริงทั้งสิ้น

ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราเห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด คดีมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่า ข้อความที่จำเลยร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม และที่จำเลยให้การต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 เป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจแจ้งความเท็จ ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ข้อความที่จำเลยกล่าวอ้างได้ความหมายพอทำให้เห็นว่าเป็นการดูหมิ่นนายหิรัญผู้พิพากษาในการพิพากษาคดี ตามมาตรา 198 และเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความนายหิรัญผู้พิพากษาตามมาตรา 326 ด้วย กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329 เพราะจำเลยแกล้งกล่าวโดยไม่สุจริต พิพากษากลับว่าจำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 198, 326 ลงโทษตามมาตรา 198 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 2 ปี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเชื่อว่า ข้อกล่าวหาของจำเลยที่ว่า นายหิรัญผู้พิพากษาได้ร่วมรับประทานเลี้ยงกับนางนิภาโจทก์ซึ่งนายหิรัญตัดสินให้ชนะคดีที่ร้านข้างศาลในตอนเย็นวันตัดสินนั้น เป็นความเท็จ เมื่อได้ประมวลพฤติการณ์ที่จำเลยร้องเรียนความข้อนี้ต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมและไปยืนยันให้ถ้อยคำต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชานายหิรัญผู้พิพากษาในการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัยแก่นายหิรัญผู้พิพากษาแล้ว เห็นได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จโดยเจตนาซึ่งอาจทำให้นายหิรัญผู้พิพากษาเสียหายการกระทำของจำเลยเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ยิ่งกว่านั้น ข้อความที่จำเลยแจ้งเท็จหาว่านายหิรัญผู้พิพากษาได้ไปรับประทานเลี้ยงอาหารกับนางนิภาโจทก์ผู้ที่ตนพิพากษาให้ชนะคดีที่ร้านอาหารข้างศาลในเย็นวันอ่านคำพิพากษานั้น ยังมีความหมายไปในทำนองพิพากษาคดีความไปโดยไม่สุจริต เป็นการหมิ่นประมาทนายหิรัญผู้พิพากษาในการพิพากษาคดี อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198และเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความนายหิรัญ ตามมาตรา 326 อีกด้วยกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่มีความผิดตามมาตรา 329(1) เพราะฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาแกล้งกล่าวข้อความเท็จโดยไม่สุจริต

และเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งข้อความอันเป็นเท็จนั้น จะต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามที่จำเลยอ้างในฎีกาเท่านั้น แต่ย่อมหมายถึงเจ้าพนักงานโดยทั่วไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่สอบสวนความผิดทางวินัยกับนายหิรัญผู้พิพากษา การที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 สอบสวนจำเลย จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานเมื่อจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ซึ่งอาจทำให้นายหิรัญผู้พิพากษาเสียหาย การกระทำของจำเลยเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137

พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share