แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ผู้เป็นตัวการชดใช้เงินที่จำเลยทั้งสองผู้เป็นตัวแทนออกเงินทดรองหรือค่าใช้จ่ายไปดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 816 ได้ โดยที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ฟ้องแย้งมาด้วยก็ตาม แต่ในคดีนี้ ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาไม่ได้ความว่าจำเลยทั้งสองได้ออกเงินทดรองชำระราคาที่ดินแทนในส่วนของโจทก์เป็นเงินจำนวนเท่าใด อีกทั้งอุทธรณ์ของโจทก์ก็ได้ความเพียงว่า “สำหรับที่ดินพิพาททั้งสิบสองโฉนด จำเลยทั้งสองออกเงินทดรองจ่ายเป็นค่าที่ดินรวม 4 โฉนด ไปจำนวนเท่าใด ก็สามารถเรียกเก็บจากโจทก์ได้ตามส่วน” เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ชดใช้เงินค่าทดรองจ่ายจำนวนโฉนดละ 70,000 บาท รวม 4 โฉนด แก่จำเลยทั้งสองก่อนรับแบ่งที่ดิน จึงหาชอบด้วยข้อเท็จจริงไม่ จำเลยทั้งสองจะมีสิทธิเรียกร้องเงินที่ทดรองจ่ายไปสำหรับที่ดินพิพาทอย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเข้าหุ้นกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงเรียนอนุบาลนวนครเพื่อดำเนินกิจการโรงเรียนแบ่งกำไรกัน โจทก์ลงหุ้นกึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยทั้งสองลงหุ้นอีกกึ่งหนึ่ง โจทก์และจำเลยทั้งสองร่วมกันซื้อที่ดิน 12 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากบริษัทนวนคร จำกัด เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียน โจทก์และจำเลยทั้งสองใส่ชื่อของตนเองถือกรรมสิทธิ์ และมีที่ดินบางแปลงใส่ชื่อนายเด่นพงษ์ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์และจำเลยทั้งสอง ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงเลิกกิจการและเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด และแบ่งทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์แล้ว ส่วนที่ดิน 12 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างยังไม่ได้แบ่ง โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองแบ่งแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มีสิทธิขอแบ่งที่ดินได้เพียงหนึ่งในสี่ตามสัดส่วนที่ลงหุ้น นอกจากนี้มีข้อตกลงของโจทก์และจำเลยทั้งสองที่จัดตั้งโรงเรียนเพื่อเป็นสถานศึกษาของชาติ การจะนำสถานที่ตั้งโรงเรียนออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินแบ่งให้โจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมถือว่าไม่อาจทำได้ เพราะมีนิติกรรมขัดอยู่ตามมาตรา 1363 แห่ง ป.พ.พ. ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายเด่นพงษ์ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 8 โฉนด ที่จำเลยทั้งสองหรือจำเลยร่วมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากเพิกเฉย ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน หากแบ่งไม่ได้ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 12 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งสองหรือจำเลยร่วมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากแบ่งไม่ได้ให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองก่อน มิฉะนั้นให้ขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินสุทธิให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ที่ดินจำนวน 4 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้นให้โจทก์ชำระเงินจำนวนโฉนดละ 70,000 บาท แก่จำเลยทั้งสองก่อนรับแบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว หากมีการประมูลราคากันหรือขายทอดตลาด ให้หักเงินจำนวนดังกล่าวจากเงินสุทธิส่วนแบ่งของโจทก์ชำระให้จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมาเป็นเงิน 22,500 บาท ให้แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเข้าหุ้นกันตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเรียนอนุบาลนวนคร โจทก์ลงหุ้นเป็นเงิน 5,000 บาท จำเลยทั้งสองลงหุ้นคนละ 2,500 บาท อาคารโรงเรียนตั้งอยู่บนที่ดินพิพาทรวม 12 โฉนด ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเรียนอนุบาลนวนคร มีการชำระบัญชีและแบ่งเงินทุนคืนแล้ว แต่จำเลยทั้งสองยังคงดำเนินกิจการต่อมาจนถึงปัจจุบันโดยใช้สถานที่เดิมคือที่ดินพิพาททั้งสิบสองโฉนดดังกล่าว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ต้องชำระเงินจำนวนโฉนดละ 70,000 บาท รวม 4 โฉนด แก่จำเลยทั้งสองก่อนรับแบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว หากมีการประมูลราคากันหรือขายทอดตลาดให้หักเงินจำนวนดังกล่าวจากเงินสุทธิส่วนแบ่งของโจทก์ชำระให้จำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ผู้เป็นตัวการชดใช้เงินที่จำเลยทั้งสองผู้เป็นตัวแทนออกเงินทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไปดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 816 ได้ โดยที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ฟ้องแย้งมาด้วยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาก็ไม่ได้ความว่าจำเลยทั้งสองได้ออกเงินทดรองชำระราคาที่ดินแทนในส่วนของโจทก์เป็นเงินจำนวนเท่าใด ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวนโฉนดละ 70,000 บาท รวม 4 โฉนด แก่จำเลยทั้งสองก่อนรับแบ่งที่ดินจึงหาชอบด้วยข้อเท็จจริงไม่ จำเลยทั้งสองชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ไม่ต้องชำระเงินจำนวนโฉนดละ 70,000 บาท แก่จำเลยทั้งสองก่อนรับแบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และหากมีการประมูลราคากันหรือขายทอดตลาดก็มิให้หักเงินจำนวนดังกล่าวจากเงินสุทธิส่วนแบ่งของโจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.