แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรุงเทพมหานครจำเลยได้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของโจทก์ เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6 , 9 , 11 , 13 การที่จำเลยเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทได้ตกเป็นของจำเลยตั้งแต่วันที่จำเลยได้วางเงินค่าทดแทนไว้ต่อธนาคารในนามของโจทก์ ซึ่งเป็นวันก่อนที่ พ.ร.ฎ. สิ้นผลใช้บังคับ จึงไม่ต้องออก พ.ร.บ. เวนคืนที่ดินพิพาทในภายหลังอีก ทั้งจำเลยได้เข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทย่อมมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองพร้อมบริวารอพยพขนย้ายออกจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเดิมโดยมิให้เกี่ยวข้องอีกด้วย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบที่ดินคืนโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินโจทก์จำนวน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจำนวน ๑๓ แปลง ตั้งอยู่แขวงหนองบอน เขตประเวศ (เดิมเขตพระโขนง) กรุงเทพมหานคร รวมเนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๔๕ ตารางวา อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๓๑ เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ๔ ปี นับตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๓๑ ถึงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๕ และจำเลยที่ ๒ ผู้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การสร้างที่เก็บกักน้ำดังกล่าวเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งหากการเวนคืนเนิ่นช้าไปจะเป็นอุปสรรคอย่างมากแก่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๓ แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ คณะรัฐมนตรีโดยมติเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๓๓ จึงกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้ จึงได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน ณ วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๓ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ฯ ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๘,๙๔๖,๙๐๐ บาท และค่าทดแทนต้นไม้เป็นเงิน ๘,๙๙๕ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๘,๙๕๕,๘๙๕ บาท ต่อมาวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๓ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ ได้มีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปรับเงินค่าทดแทนดังกล่าวภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันรับหนังสือซึ่งโจทก์ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๓ แต่โจทก์ไม่ได้ไปรับเงินค่าทดแทนภายในกำหนดเวลา ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนจึงได้วางเงินค่าทดแทนจำนวน ๘,๙๕๕,๘๙๕ บาท โดยนำไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน สาขาพระโขนง ประเภทเผื่อเรียกในนามของโจทก์เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ต่อมาวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๓๔ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์และให้ไปรับเงินค่าทดแทนโดยแจ้งว่าจะเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนเมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วัน นับจากที่โจทก์ได้รับหนังสือฉบับนี้ โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๓๔ ต่อมาวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕ โจทก์ได้ทำหนังสือยินยอมให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เข้าครอบครองที่ดินได้ทั้งแปลงหรือทั้งหมดรวมทั้งให้ตัดต้นไม้ในที่ดินได้ทุกต้น และยินยอมให้รื้อถอนโรงเรือนซึ่งเป็นเรือนบริวารทั้งหมดตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป และจำเลยที่ ๑ ได้เข้าครอบครองที่ดินทั้งสิบสามแปลงของโจทก์ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ และใช้ที่ดินพิพาทตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๓๑ ตลอดมา โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๗ ซึ่งในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องนั้น พระราชกฤษฎีกา ฯ สิ้นผลใช้บังคับแล้วโดยไม่มีการออก พ.ร.บ. เวนคืนที่ดินพิพาท คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์โดยห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องได้หรือไม่ เห็นว่า การดำเนินการของฝ่ายจำเลยให้ได้มาซึ่งที่ดินทั้งสิบสามแปลงของโจทก์อันเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ คือได้ออก พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๓๑ ตามมาตรา ๖ และคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในโครงการนี้เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ฯ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา ฯ แต่งตั้งตามมาตรา ๙ วรรคสอง ก็ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ฝ่ายจำเลยได้วางเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวไว้ต่อธนาคารออมสิน สาขาพระโขนง กับเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกา ฯ ยังมีผลใช้บังคับ ซึ่งมาตรา ๑๓ วรรคสอง ให้มีอำนาจกระทำได้ การเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยฝ่ายจำเลยนั้นเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และมาตรา ๑๓ วรรคท้าย บัญญัติว่า ในการดำเนินการตามวรรคสองและวรรคสาม ให้นำมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑
มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อนำมาตรา ๑๑ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลมกับกรณีนี้แล้ว ก็จะเป็นว่าเมื่อผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนได้วางเงินค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดขึ้นตามมาตรา ๙ แล้ว จำเลยที่ ๒ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ ย่อมมีอำนาจหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป. ที่ดิน ทราบและให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวดำเนินการแก้ไขหลักฐานทางทะเบียนในโฉนดที่ดินพิพาท ทั้งฉบับที่เก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานที่ดินและฉบับที่โจทก์ยึดถือไว้ โดยให้ถือว่าเป็นการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายและถือว่าได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนับแต่วันวางเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาท ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของฝ่ายจำเลยแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ อันเป็นวันที่ฝ่ายจำเลยได้วางเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทไว้ต่อธนาคารออมสิน สาขาพระโขนง ในนามของโจทก์ ซึ่งเป็นวันก่อนที่พระราชกฤษฎีกา ฯ สิ้นผลใช้บังคับจึงไม่จำต้องมีการออก พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนที่ดินพิพาทในภายหลังอีก นอกจากนี้จำเลยทั้งสองได้เข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสร้างเป็นที่เก็บน้ำอันเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครแล้ว นับแต่นั้นที่ดินพิพาททั้งสิบสามแปลงรวมเนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๔๕ ตารางวา ของโจทก์ย่อมมีสภาพเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินพาทคืนแก่โจทก์ ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะแม้จะวินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.