แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเพิกถอนการโอนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องร้องขอเพิกถอน การโอนได้ในกรณีที่ลูกหนี้จำเลยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ซึ่งมีความหมายว่าการโอนทรัพย์สินนั้นเป็นการโอนให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว
จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 น้องชายของผู้คัดค้านได้มาติดต่อขอให้ผู้คัดค้านช่วยเหลือโดยขอให้ผู้คัดค้านชำระหนี้แทน ผู้คัดค้านจึงชำระหนี้แทนไป 3 ครั้ง แม้จะไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินก็ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นตัวแทนในการชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด แทนจำเลยที่ 1 แล้ว ผู้คัดค้านย่อมฟ้องเรียกเงินที่ผู้คัดค้านชำระหนี้แทนจากจำเลยที่ 1 ได้ ในมูลหนี้ตามสัญญา ตัวแทนแม้การเป็นตัวแทนจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม จำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านจึงมีนิติสัมพันธ์กันมาก่อนแล้ว อันเป็นการก่อสิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ต่อไป ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 ประกอบมาตรา 1087 จึงถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 2 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านหลังจากที่มีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านหักเงินที่ผู้คัดค้านชำระแทนไป และจำเลยที่ 2 รับเงินส่วนที่เหลือไป และเนื่องจากผู้ร้องรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้เพียง 10,394 บาท ขณะที่จำนวนหนี้ทั้งหมดที่ศาลมีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 เป็นเงินถึง 29,949,426.04 บาท การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีไปโอนชำระหนี้ แก่ผู้คัดค้านโดยเฉพาะ จึงเป็นการให้เปรียบแก่ผู้คัดค้านและทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบเพราะเจ้าหนี้อื่นไม่มีโอกาส ได้รับชำระหนี้โดยเฉลี่ยจากทรัพย์สินที่โอนไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องจึงมีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอนการโอน ทรัพย์สินรายนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 โดยไม่ต้องพิจารณาว่าผู้รับโอนได้รับโอนโดยสุจริตและ มีค่าตอบแทนหรือไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลาย เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๓๑ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๓๒ และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๓
ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๑๕๖๓ ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ ๓/๒๑ บนที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๒ กับผู้คัดค้าน หากผู้คัดค้านไม่โอนคืน ให้ถือคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของผู้คัดค้าน หากไม่อาจโอนคืนได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน ๒,๗๐๖,๗๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านได้รับโอนทรัพย์พิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ทั้งไม่ทราบว่าจำเลยที่ ๒ มีหนี้สินล้นพ้นตัว ผู้คัดค้านเพิ่งจะทราบว่าจำเลยที่ ๒ มีหนี้สินล้นพ้นตัวในปี ๒๕๓๔ ผู้คัดค้านซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทในราคา ๗๕๐,๐๐๐ บาท อันเป็นราคาท้องตลาด ทั้งการที่จำเลยที่ ๒ โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก็ไม่ใช่กระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนและไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้คัดค้านชำระเงินตามคำร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๑๕๖๓ ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ ๓/๒๑ ระหว่างจำเลยที่ ๒ กับผู้คัดค้าน ตามมาตรา ๑๕๕ แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ หากไม่สามารถโอนคืนได้ให้ผู้คัดค้านใช้ราคาเป็นเงิน ๒,๗๐๖,๗๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า ที่จำเลยที่ ๒ โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๑๕๖๓ ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับโอน จะเพิกถอนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ ได้หรือไม่ เห็นว่า การเพิกถอนการโอนดังกล่าวนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องร้องขอเพิกถอนการโอนได้ในกรณีที่จำเลยที่ ๒ มุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ซึ่งมีความหมายว่า การโอนทรัพย์สินนั้นเป็นการโอนให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน มีจำเลยที่ ๒ หุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ ๑ เป็นน้องชายของผู้คัดค้านได้มาติดต่อขอให้ผู้คัดค้านช่วยเหลือโดยขอให้ ผู้คัดค้านชำระหนี้แทน ผู้คัดค้านจึงชำระหนี้แทนไป ๓ ครั้ง ดังนั้นการที่ผู้คัดค้านชำระหนี้แทนจำเลยที่ ๑ ไปนั้น แม้จะไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินก็ตาม ก็ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นตัวแทนในการชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด แทนจำเลยที่ ๑ แล้ว ผู้คัดค้านย่อมฟ้องเรียกเงินที่ผู้คัดค้านชำระหนี้แทนจากจำเลยที่ ๑ ได้ ซึ่งเป็นการฟ้องในมูลหนี้ตามสัญญาตัวแทน แม้การเป็นตัวแทนจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม จำเลยที่ ๑ กับผู้คัดค้านจึงมีนิติสัมพันธ์กันมาก่อนแล้ว อันเป็นการก่อสิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ต่อไป จึงถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ ๑ แล้ว เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๗๗ ประกอบมาตรา ๑๐๘๗ จึงถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ ๒ ด้วย เมื่อจำเลยที่ ๒ โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๑ หลังจากที่มีการขอให้จำเลยที่ ๒ ล้มละลายแล้ว โดยจำเลยที่ ๒ ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านหักเงินที่ผู้คัดค้านชำระแทนไปจำนวน ๓๑๑,๗๐๐ บาท และจำเลยที่ ๒ รับเงินส่วนที่เหลือไปและเนื่องจากผู้ร้องรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ ได้เพียง ๑๐,๓๙๔ บาท ขณะที่จำนวนหนี้ทั้งหมดที่ศาลมีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ ๒ เป็นเงินถึง ๒๙,๙๔๙,๔๒๖.๐๔ บาท การที่จำเลยที่ ๒ นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีไปโอนชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านโดยเฉพาะ จึงเป็นการให้เปรียบแก่ผู้คัดค้านและทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบเพราะเจ้าหนี้อื่นไม่มีโอกาสได้รับชำระหนี้โดยเฉลี่ยจากทรัพย์สินที่โอนไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องจึงมีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอนการโอนทรัพย์สินรายนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าผู้รับโอนได้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.