คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 24/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 36 หมายถึง ลูกจ้างที่ทำงานในตำแหน่งบังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา โดยเปรียบเสมือนเป็นนายจ้างในกรณีการจ้าง ลดค่าจ้าง เลิกจ้าง ให้บำเหน็จ ลงโทษ หรือวินิจฉัยข้อร้องทุกข์เพียงประการใดประการหนึ่งก็ได้ ฉะนั้น เมื่อจำเลยกำหนดให้ “ผู้ควบคุมงาน”มีอำนาจทำการแทนจำเลยสำหรับการจ้าง ลดค่าจ้าง เลิกจ้าง ให้บำเหน็จ ลงโทษหรือวินิจฉัยข้อร้องทุกข์อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามประกาศเรื่องระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลย “ผู้ควบคุม” จึงหมายถึงลูกจ้างของจำเลยซึ่งทำงานในตำแหน่งบังคับบัญชามีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาโดยเด็ดขาดเปรียบเสมือนเป็นนายจ้างด้วย ซึ่งปกติย่อมหมายถึงผู้มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดในแต่ละหน่วยงานของจำเลยเท่านั้น แต่โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยพยาบาลเท่านั้น มิใช่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วย โจทก์จึงมิใช่เป็นผู้ควบคุมงาน จำเลยต้องชำระค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เคยทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พยาบาลประจำศูนย์พยาบาลโรงงานผลิตเยื่อกระดาษของจำเลย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาค่าทำงานวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 40,052.45 บาท นับแต่ครบกำหนดชำระเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับแต่ละงวด แต่จำเลยจงใจไม่ชำระโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรจำเลยจึงต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน รวมเงินค่าล่วงเวลา ค่าทำงานวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดและเงินเพิ่มถึงวันฟ้องจำนวน 253,508.88 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าล่วงเวลาค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดจำนวน 40,050.45 บาท เงินเพิ่มถึงวันฟ้องจำนวน 213,230.41 บาท และเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าจากต้นเงิน 40,050.45 บาท ทุกระยะเจ็ดวันจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย พนักงานที่ทำงานในตำแหน่งระดับฝ่ายบริหาร หัวหน้างาน หัวหน้าแผนก หัวหน้าฝ่ายผู้จัดการและผู้ควบคุมงานซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนจำเลย สำหรับกรณีการจ้างการลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษ การวินิจฉัยข้อร้องทุกข์ของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดค่าล่วงเวลาในวันหยุดและค่าเสียหายแต่อย่างใด โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงาน การทำงานล่วงเวลาจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องรับผิดชอบควบคุมดูแลงานให้เสร็จลุล่วงไปตามหน้าที่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2525จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่พยาบาล ต่อมาวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยแต่งตั้งโจทก์ให้เป็นผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยพยาบาล โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ 15,209 บาท ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2539 เป็นต้นไป โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2541 ระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม 2539 ถึงวันลาออก โจทก์ทำงานล่วงเวลา 24 วัน ทำงานในวันหยุด 16 วันและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด 9 วัน ประกาศเรื่องระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลย ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2525 ข้อ 5.4.1 กำหนดพนักงานเฉพาะในตำแหน่งระดับฝ่ายบริหาร หัวหน้างาน หัวหน้าแผนก หัวหน้าฝ่าย ผู้จัดการและผู้ควบคุมงานเท่านั้นที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา มิได้กำหนดถึงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยด้วยระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงใช้บังคับแก่โจทก์ไม่ได้ และประกาศของจำเลยที่ รง. 054/2540 เรื่อง การทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดของหัวหน้างาน ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2540 ที่กำหนดให้หัวหน้าที่มีตำแหน่งตั้งแต่ผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยขึ้นไปที่ได้ทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุดตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาหรือตามประกาศของจำเลยไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แต่จำเลยจะอนุญาตให้หยุดชดเชยได้นั้น เป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 36(1) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จึงไม่มีผลบังคับ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดรวม40,050.45 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยจะต้องรับผิดชอบควบคุมดูแลงานให้สำเร็จลุล่วงไปสภาพงานและลักษณะงานของโจทก์จึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ควบคุมงาน” ตามประกาศเรื่องระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยลงวันที่ 15 ตุลาคม 2525 ข้อ 5.4.1 นั้น เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 36 ได้กำหนดว่า ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 34และ ข้อ 42 และใน (1) ได้กำหนดถึงงานที่ลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการผู้จัดการหัวหน้าฝ่าย หรือหัวหน้างาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษหรือการวินิจฉัยข้อร้องทุกข์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 36(1) นี้จะเห็นได้ว่าลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามที่กฎหมายกำหนดนั้น หมายถึงลูกจ้างซึ่งทำงานในตำแหน่งบังคับบัญชา ซึ่งต้องมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาโดยเปรียบเสมือนหนึ่งเป็นนายจ้าง ในกรณีการจ้าง การลดค่าจ้างการเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษหรือการวินิจฉัยข้อร้องทุกข์ เพียงประการใดประการหนึ่งดังกล่าวก็ได้ ฉะนั้น เมื่อจำเลยกำหนดให้ “ผู้ควบคุมงาน” ซึ่งมีอำนาจทำการแทนจำเลย สำหรับกรณีการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จการลงโทษ หรือการวินิจฉัยข้อร้องทุกข์ อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามประกาศเรื่องระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลย ข้อ 5.4.1 คำว่า “ผู้ควบคุมงาน” ดังกล่าวจึงต้องหมายถึงลูกจ้างของจำเลย ซึ่งทำงานในตำแหน่งบังคับบัญชามีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาโดยเด็ดขาดเปรียบเสมือนเป็นนายจ้างด้วย ซึ่งตามปกติย่อมหมายถึงผู้มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดในแต่ละหน่วยงานของจำเลยเท่านั้น ทั้งนี้จะต้องมีอำนาจทำการแทนจำเลยในเรื่องดังกล่าวข้างต้นด้วย แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่าโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยพยาบาลเท่านั้น มิใช่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วย โจทก์จึงมิใช่เป็นผู้ควบคุมงานตามประกาศเรื่องระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนอุทธรณ์ประการสุดท้ายของจำเลยที่ว่า ประกาศที่ รง. 054/2540 เรื่องการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดของหัวหน้างาน ลงวันที่ 26 พฤษภาคม2540 ของจำเลย ที่กำหนดให้หัวหน้างานที่มีตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าหน่วย ที่ได้ทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หรือประกาศของจำเลยไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แต่จำเลยจะอนุญาตให้หยุดชดเชยได้ ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น เห็นว่า ประเด็นตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว จำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การแต่อย่างใด แม้ศาลแรงงานกลางจะหยิบยกประกาศที่ รง. 054/2540ของจำเลยดังกล่าวมาวินิจฉัยก็เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากประเด็นข้อพิพาทในคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคแรก ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายืน

Share