คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1773/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายข้าวระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย คู่สัญญาทำขึ้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไปตามที่ระบุในสัญญาของก๊าฟต้า ซึ่งตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาของก๊าฟต้าระบุให้ข้อพิพาทใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากหรือตามสัญญานี้ต้องพิจารณาตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการ กฎอนุญาโตตุลาการและแบบฟอร์มของสัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้
เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการและคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นไปตามกฎอนุญาโตตุลาการของก๊าฟต้า ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาซื้อขายแล้ว แม้วิธีพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตามกฎดังกล่าวจะแตกต่างไปจากบทบัญญัติใน พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 อยู่บ้าง จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว จะอ้างว่าขัดต่อ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 เพราะมิได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในชั้นพิจารณาอุทธรณ์หาได้ไม่ ศาลจะทำคำสั่งปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ก็ต่อเมื่อปรากฏว่ามีเหตุดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 34 และมาตรา 35 แต่ก็ไม่ปรากฏกรณีดังกล่าว ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้อง จึงเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ก ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501 (ค.ศ. 1958) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอันจะได้รับการรับรองและบังคับในราชอาณาจักรไทย ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง และผูกพันจำเลย
โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และจำเลยนำข้อพิพาทเสนออนุญาโตตุลาการชี้ขาด เมื่ออนุญาโตตุลาการชี้ขาดแล้ว โจทก์ที่ 1 และจำเลยได้อุทธรณ์คำชี้ขาดต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ 125 ส่วนโจทก์ที่ 2 ยื่นเอกสารผลการพิจารณา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2536 ซึ่งโจทก์ทั้งสองและจำเลยได้รับทราบตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่ โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2537 อันมีผลเป็นการยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คำร้องขอของโจทก์ทั้งสองจึงยื่นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกบริษัทเจ็ท เอ็นเตอร์ไพร้เซส จำกัด ว่า โจทก์ที่ ๑ เรียกบริษัทซิโซสตราด เอส. เอ. ว่า โจทก์ที่ ๒ และจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นบุคคลคนเดียวกัน
โจทก์ที่ ๑ ฟ้องว่าโจทก์ที่ ๑ ทำสัญญาซื้อข้าวจากจำเลย ปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าข้าวให้ครบตามจำนวนและเงื่อนไขของสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ ๑ และจำเลยได้นำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการของสมาคมการค้าเมล็ดข้าวและอาหาร กรุงลอนดอน (กาฟต้า) วินิจฉัยชี้ขาด ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาซื้อขายข้าว อนุญาโตตุลาการชั้นต้นและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำชี้ขาดถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหาย ๑,๒๔๔,๓๔๙.๐๖ ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อปี ของต้นเงิน ๘๕๘,๑๗๑.๗๘ ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับชำระค่าใช้จ่ายอนุญาโตตุลาการเป็นเงิน ๑๑,๔๗๒.๖๕ ปอนด์สเตอร์ลิง แก่โจทก์ที่ ๑
โจทก์ที่ ๒ ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๔๘,๗๕๖.๒๕ ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๒ จนกว่าจะชำระเสร็จและให้ชำระค่าใช้จ่ายอนุญาโตตุลาการจำนวน ๒,๘๖๓.๗๕ ปอนด์สเตอร์ลิง แก่โจทก์ที่ ๒
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน ๑,๒๔๔,๓๔๙.๐๖ ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อปี ของต้นเงิน ๘๕๘,๑๗๑.๗๘ ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ จนกว่าจะชำระเสร็จและเงินจำนวน ๑๑,๔๗๒.๖๕ ปอนด์สเตอร์ลิง แก่โจทก์ที่ ๑ กับให้ชำระเงินจำนวน ๗๐,๗๕๖.๒๕ ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อปี ของต้นเงิน ๔๘,๗๕๖.๒๕ ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ จนกว่าจะชำระเสร็จและเงินจำนวน ๒,๘๖๓.๗๕ ปอนด์สเตอร์ลิง แก่โจทก์ที่ ๒ โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีคำพิพากษา ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความส่วนแรก ๕๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่สอง ๒๐,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสองคนละ ๓๐,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการและคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นไปตามกฎอนุญาโตตุลาการข้อที่ ๑๒๕ ของกาฟต้าตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาซื้อขายแล้ว แม้วิธีพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตามกฎดังกล่าวจะแตกต่างไปจากบทบัญญัติใน พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๓๐ อยู่บ้าง จำเลยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว จะอ้างว่าขัดต่อ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๓๐ เพราะมิได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในชั้นพิจารณาอุทธรณ์หาได้ไม่ ทั้งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้อง เป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๐๑ (ค.ศ. ๑๙๕๘) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอันจะได้รับการรับรองและบังคับในราชอาณาจักรไทยตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง ซึ่งศาลจะทำคำสั่งปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ก็ต่อเมื่อปรากฏว่ามีเหตุดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ คดีนี้โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ ฟ้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๐๑ (ค.ศ. ๑๙๕๘) ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดเสียได้ต่อเมื่อจำเลยซึ่งจะถูกบังคับสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีกรณีตามที่ระบุไว้ในอนุมาตรา (๑) ถึง (๖) ของมาตรา ๓๔ แห่ง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๓๐ กรณีใดกรณีหนึ่งหรือมีกรณีตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓๕ แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวเท่านั้น แต่ก็ไม่ปรากฏกรณีดังกล่าว ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้อง จึงเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๐๑ (ค.ศ. ๑๙๕๘) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอันจะได้รับการรับรองและบังคับในราชอาณาจักรไทยตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง และผูกพันจำเลย
พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๓๐ บัญญัติว่า “เมื่อคู่กรณีฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ตามมาตรา ๒๙ ให้คู่กรณีฝ่ายนั้นยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลาหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีตามมาตรา ๒๑ วรรคสี่…” ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๒ และจำเลยนำข้อพิพาทเสนออนุญาโตตุลาการชี้ขาด เมื่ออนุญาโตตุลาการชี้ขาดแล้ว โจทก์ที่ ๑ และจำเลยได้อุทธรณ์คำชี้ขาดต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎอนุญาโตตุลาการ ข้อที่ ๑๒๕ ส่วนโจทก์ที่ ๒ ยื่นเอกสารผลการพิจารณา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ซึ่งโจทก์ทั้งสองและจำเลยได้รับทราบตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๑ วรรคสี่ โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ อันมีผลเป็นการยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คำร้องขอของโจทก์จึงยื่นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองโดยให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ศาลฎีกานี้มีคำพิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มี ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้น ก่อนวันพิพากษา แต่เมื่อคิดแล้วสำหรับกรณีโจทก์ที่ ๑ อัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่เกิน ๑ ดอลลาร์สหรัฐต่อ ๒๕.๑ บาท และไม่เกิน ๑ ปอนด์สเตอร์ลิง ต่อ ๓๘ บาท กรณีโจทก์ที่ ๒ อัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่เกิน ๑ ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ ๒๕.๕๐ บาท และไม่เกิน ๑ ปอนด์สเตอร์ลิง ต่อ ๓๘ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสองคนละ ๒,๕๐๐ บาท.

Share