คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 991/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินโจทก์จำเลยเดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน เมื่อแบ่งแยกแล้วที่ดินโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน และเมื่อฟังว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นแล้วก็ไม่เป็นทางภาระจำยอมอีก ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5482 และ 5483เนื้อที่ติดต่อกันกับที่ดินโฉนดเลขที่ 5484, 21068 และ 5481 ของจำเลยทั้งสาม ที่ดินของโจทก์ทิศตะวันตกจดลำบึงบางขัน ทิศใต้จดลำรางกลีบหมู ทำให้โจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนภาระจำยอมในฐานะทางจำเป็นในโฉนดที่ดินเลขที่ 21068 ของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนภารจำยอมในฐานะทางจำเป็นในโฉนดที่ดินเลขที่ 5481 สำหรับที่ดินของโจทก์ในโฉนดที่ดินเลขที่ 5482 และ 5483 ถ้าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสามเป็นทางเข้าออก เพราะที่ดินของโจทก์สามารถเข้าออกด้านอื่นอยู่แล้ว ข้อตกลงกันที่ดินบางส่วนเพื่อเป็นทางสาธารณะนั้นไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์
ระหว่างพิจารณาโจทก์จำเลยทั้งสามทำสัญญาประนีประนอมยอมความและจดทะเบียนภารจำยอมโฉนดที่ดินเลขที่ 5481 ของจำเลยทั้งสาม สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 5482 และ 5483 ของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนภารจำยอมทางจำเป็นในโฉนดที่ดินเลขที่ 21068 เลขที่ดิน 6893 กว้างประมาณ 3 เมตรจากที่ดินโจทก์เลขที่ดิน 796 ทางทิศตะวันออก ยาวจดที่ดินแปลงเลขที่ 794 (ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3) โดยให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินโจทก์จำเลยเดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน มีนายสุนทร และนางสงวน ไชยสุนทร ถือกรรมสิทธิ์รวมกัน ต่อมาได้มีการแบ่งที่ดินแปลงนี้ออกเป็น 10 แปลง แล้วโอนให้บุตรทั้งหลายของนายสุนทรและนางสงวน โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่5482 และ 5483 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินดังกล่าวจากนายชูวงศ์ ไชยสุนทร และนางพอใจ ชมภูนิช ทายาทของนายสุนทรและนางสงวน หลังแบ่งแยกออกเป็น 10 แปลงแล้ว ที่ดินโฉนดเลขที่ 5481 ได้จดทะเบียนภารจำยอม อนุญาตให้ที่ดินโฉนดเลขที่5482 และ 5483 ซึ่งแบ่งแยกออกมาคราวเดียวกัน ใช้เป็นทางเดินบางส่วนจากทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกมีความกว้าง 3 เมตรยาว 6 เมตร และที่ดินโฉนดเลขที่ 5485 ได้มีการจดทะเบียนภารจำยอมอนุญาตให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 5483 ใช้เป็นทางเดินบางส่วนเช่นกันปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 มีว่า ภายหลังโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5482 และ 5483 แล้ว โจทก์มีสิทธิใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 21068 ตามผังเอกสารหมาย จ.6 สู่ทางสาธารณะในฐานะทางจำเป็นหรือไม่ ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ที่ซื้อมาทั้งสองแปลงด้านทิศตะวันตกมีแนวที่ดินติดกับลำบึงบางชัน และที่ดินโฉนดเลขที่ 5483 ด้านทิศใต้มีแนวที่ดินติดกับลำรางกลีบหมู ปัญหาต่อไปมีว่า ทั้งลำบึงบางชันและลำรางกลีบหมูเป็นทางสาธารณะตามความหมายของบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349และ 1350 หรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ลำรางและลำบึงดังกล่าวมีต้นหญ้าขึ้นรกและสภาพน้ำที่ตื้นเขินไม่สามารถใช้เป็นทางสัญจรไปมาได้ จึงไม่ใช่เป็นทางสาธารณะตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว จึงถือได้ว่าที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงภายหลังแบ่งแยกแล้ว ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะและเนื่องจากที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 21068 ของจำเลยที่ 1 ซึ่งแบ่งแยกออกมา โจทก์จึงอาศัยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350เรียกร้องให้จำเลยเปิดทางจำเป็นเพื่อใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้ตามคำฟ้อง ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนภารจำยอมทางจำเป็นในโฉนดที่ดินเลขที่ 21068 เลขที่ดิน 6893 และให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนให้จำเลยที่ 1เป็นเงิน 5,000 บาท นั้น เห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อฟังว่าที่ดินโจทก์จำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน เมื่อแบ่งแยกแล้วที่ดินโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นได้ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน และเมื่อฟังว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นจึงไม่เป็นทางภารจำยอมอีก ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จำเลยจะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนทางจำเป็นในโฉนดที่ดินเลขที่ 21068 เลขที่ดิน 6893 กว้างประมาณ 3 เมตร จากที่ดินของโจทก์โฉนดที่ดินเลขที่ 5483 เลขที่ดิน 796 ด้านทิศตะวันออกยาวจดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 5481 เลขที่ดิน 794(ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3) โดยโจทก์ไม่ต้องเสียค่าตอบแทนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความในชั้นฎีกาให้

Share