คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7116/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ข้อ 10 ซึ่งออกบังคับใช้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 29 ให้อำนาจศาลแรงงานสอบถามคู่ความแต่ละฝ่ายว่าประสงค์จะอ้างและสืบพยานใดบ้างแล้วจดรายชื่อและที่อยู่ของพยานบุคคล สภาพและสถานที่เก็บของพยานเอกสารหรือพยานวัตถุไว้หรือจะให้คู่ความทำบัญชีระบุพยานยื่นต่อศาลแรงงานภายในวันนั้นหรือภายในกำหนด 2 วัน ก็ได้ หากศาลแรงงานเห็นว่าพยานที่คู่ความมานำสืบยังไม่ได้ข้อเท็จจริงแห่งคดีแจ้งชัด ศาลแรงงานก็มีอำนาจตามมาตรา 45 ที่จะเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควรและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเป็นกรณีมีบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นการเฉพาะแล้ว ไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) , 88 มาอนุโลมใช้
แม้บัญชีระบุพยานจำเลยระบุเพียง “ฝ่ายกฎหมาย บริษัทสาธรคาร์เร้นท์ จำกัด” โดยไม่ได้ระบุชื่อ ส. เป็นพยานจำเลย ศาลแรงงานกลางก็สามารถรับฟังคำเบิกความของ ส. เป็นพยานได้ในฐานะพยานที่ศาลแรงงานกลางเห็นสมควรสืบเองตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 114,000 บาท ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 25,967 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อน 8,867 บาท ค่าจ้างค้างชำระเป็นเงิน 22,673 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงเป็นเงิน 3,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับอนุมัติจากจำเลยให้ไปปฏิบัติงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่วันที่ 16 – 28 สิงหาคม 2540 โจทก์ได้ขอเบิกเงินค่าเช่ารถ ค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าที่พักเป็นเวลา 12 วัน แต่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลับทำหลักฐานขอเบิกเงินค่าเช่ารถ ค่าเบี้ยเลี้ยง จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ การเลิกจ้างโจทก์มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ได้รับค่าจ้างและค่าเบี้ยเลี้ยงที่จำเลยค้างชำระเป็นที่พอใจแล้ว ไม่ติดใจเรียกร้องอีก จึงไม่วินิจฉัยในส่วนนี้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังคำเบิกความของนายสรรเพชรพยานจำเลยมาวินิจฉัยให้โจทก์แพ้คดีโดยจำเลยไม่ได้ระบุชื่อนายสรรเพชรไว้ในบัญชีระบุพยาน เป็นการรับฟังพยานโดยฝ่าฝืนกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ข้อ 10 ซึ่งออกใช้บังคับโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 ให้อำนาจศาลแรงงานสอบถามคู่ความแต่ละฝ่ายว่าประสงค์จะอ้างและสืบพยานใดบ้างแล้วจดรายชื่อและที่อยู่ของพยานบุคคล สภาพและสถานที่เก็บของพยานเอกสารหรือพยานวัตถุไว้ หรือจะให้คู่ความทำบัญชีระบุพยานยื่นต่อศาลแรงงานในวันนั้นหรือภายในกำหนด 2 วัน ก็ได้ หากศาลแรงงานเห็นว่า พยานที่คู่ความนำมาสืบยังไม่ได้ข้อเท็จจริงแห่งคดีแจ้งชัด ศาลแรงงานก็มีอำนาจตามมาตรา 45 ที่จะเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควรและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ซึ่งเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นการเฉพาะแล้ว ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) และมาตรา 88 มาอนุโลมใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ได้ เมื่อศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานมาสืบได้เองหรือกำหนดให้คู่ความนำพยานมาสืบโดยจะให้ยื่นบัญชีระบุพยานหรือไม่ก็ได้ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นแม้จำเลยจะยื่นบัญชีระบุพยานเพียงว่า “ฝ่ายกฎหมาย บริษัทสาธรคาร์เร้นท์ จำกัด” มิได้ระบุชื่อนายสรรเพชร (ไม่ปรากฏนามสกุล) เป็นพยานจำเลยไว้ แต่ศาลแรงงานกลางรับฟังคำเบิกความของนายสรรเพชรเป็นพยานได้ในฐานะเป็นพยานที่ศาลแรงงานกลางเห็นสมควรสืบเองตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังคำเบิกความของนายสรรเพชรจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน.

Share