คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2110/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บิดาโจทก์และโจทก์อุทิศที่พิพาทให้ใช้เป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามตามหลักของศาสนาอิสลาม อันมีผลทำให้ผู้ใดจะยึดถือครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทไม่ได้ ที่พิพาทจึงเป็นที่ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์และตกเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดินทันทีที่อุทิศให้ โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ปัญหาว่าที่พิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) หรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
(ประเด็นหลังวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาครั้งที่ 15/2543)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบพร้อมบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ ๕๗ อาคารโรงเรียนและต้นไม้ออกจากที่ดินของโจทก์และให้เช่าค่าเสียหายเดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสิบและบริวารจะรื้อถอนบ้าน อาคารโรงเรียนและต้นไม้ออกไปจากที่ดินของโจทก์
ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงร่วมกันว่า จำเลยที่ ๓ ถึงแก่ความตายก่อนโจทก์ฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๑๐ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทและมีอำนาจฟ้อง หรือไม่ คดีนี้โจทก์อ้างตนเองเข้ามาเบิกความเป็นพยานว่า บิดาโจทก์แบ่งที่ดินประมาณ ๒ ไร่ ให้บิดาจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๙ ใช้เป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามชั่วคราว ต่อมาวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๐๖ บิดาโจทก์ยกที่ดินให้โจทก์ ปี ๒๕๒๐ บิดาจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๙ ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๑ สอนศาลนาต่อโดยโจทก์อนุญาตให้ใช้ที่ดินชั่วคราวและไม่ได้ทำเป็นหนังสือ ต่อมาวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๐ จำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์อ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครอง ปรปักษ์และศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องแล้ว โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ ๑ อยู่ในที่ดินต่อไปจึงให้ทนายความ มีหนังสือให้จำเลยที่ ๑ และบริวารออกจากที่ดินแล้ว จำเลยทั้งสิบไม่ยอมออก แต่ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๑๙๑๕/๒๕๓๒ ของศาลแพ่ง โจทก์เบิกความว่า เมื่อประมาณปี ๒๔๘๕ ถึง ๒๔๘๗ บิดาโจทก์อนุญาตให้บิดาจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๙ อาศัยใช้ที่ดินประมาณ ๑ ไร่ สร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม แล้วช่วยกันสร้างโรงเรียนและบ้านพักครูขึ้น บ้านและโรงเรียนที่สร้างขึ้นนี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ของบิดาจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๙ แต่สร้างขึ้นให้เป็นส่วนกลาง ของศาสนา และยังเบิกความอีกว่า ชาวมุสลิมส่วนมากให้ใช้ที่ดินของตนสร้างมัสยิด สร้างสุสาน และสร้างโรงเรียนสอนศาสนา ที่ดินที่ให้สร้างนี้จะนำไปซื้อขาย จำหน่าย จำนอง จำนำ ไม่ได้ทั้งสิ้น โดยถือว่าเป็นที่ดินอยู่ในฟีซาบิลล่ะห์ คืออยู่ในแนวทางศาสนาอิสลาม ใครจะยึดถือเป็นเจ้าของไม่ได้ หรือใครจะครอบครองเป็นเจ้าของก็ไม่ได้ จากคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวศาลฎีกา เห็นว่า การที่บิดาโจทก์อนุญาตให้บิดาจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๙ ใช้ที่พิพาทสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามตั้งแต่ประมาณปี ๒๔๘๗ จนกระทั่งบิดาโจทก์ถึงแก่ความตายในปี ๒๕๑๗ และเมื่อบิดาจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๙ ถึงแก่ความตายในปี ๒๕๒๐ โจทก์ก็ยังอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ สอนศาสนาในที่พิพาทต่อไปนั้น เป็นการที่บิดาโจทก์และโจทก์อุทิศที่พิพาทให้ใช้เป็นโรงเรียนสาอนศาสนาอิสลามตามหลักของศาสนาอิสลาม อันมีผลทำให้ผู้ใดจะยึดถือครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทไม่ได้ ที่พิพาทจึงเป็นที่ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ของชาวมุสลิมและตกเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดินทันทีที่บิดาโจทก์อุทิศให้โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อที่พิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๑๐ จะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕)
พิพากษายืน .

Share