คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8235/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ทวิ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาผู้พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาจะอนุญาตให้อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องถือเจตนารมณ์ของผู้อนุญาตและความยุติธรรมที่คู่ความพึงจะได้รับเป็นสำคัญยิ่งกว่าถ้อยคำแต่ละคำในตัวบท
ผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญควรสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 3” และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของ โจทก์ร่วมทั้งสองในวันเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าเป็นการอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐, ๓๙๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๑๕๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา นายประสิทธิ์ อนุอันหรืออนุอิน และนายทวีศักดิ์ แซ่อึ้ง ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ โดยให้เรียกนายประสิทธิ์ว่าโจทก์ร่วมที่ ๑ และเรียก นายทวีศักดิ์ว่าโจทก์ร่วมที่ ๒
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง
โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า คดีนี้ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๒ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๒๐ มาตรา ๓ คดีคงมีปัญหาว่า การที่ผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ร่วมทั้งสองที่ขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหา ข้อเท็จจริงว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญควรสู่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓” นั้น เป็นการอนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วหรือไม่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญา ในศาลแขวงมาตรา ๒๒ ทวิ บัญญัติว่า “ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือ ลงชื่อในคำพิพากษาหรือ… พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์… ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณา” เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาผู้พิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาจะอนุญาตให้อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องถือเจตนารมณ์ของผู้อนุญาตและความยุติธรรมที่ คู่ความพึงจะได้รับเป็นสำคัญ ยิ่งกว่าถ้อยคำแต่ละคำในตัวบท มิฉะนั้นแล้วผลจะกลายเป็นว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เห็นควรนำปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งเป็นปัญหาสำคัญสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ตามที่คู่ความร้องขอ แต่ใช้ ข้อความคลาดเคลื่อนไปจากตัวบท กลับเป็นผลร้ายแก่คู่ความซึ่งประสงค์จะให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหาสำคัญอีกครั้งหนึ่ง สำหรับคดีนี้ผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นสั่งในคำร้อง ขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญควรสู่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓” และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองในวันเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าเป็นการอนุญาตให้อุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ รับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองไว้พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี .

Share