คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8303/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 2 หลังจากโจทก์วางเงินมัดจำแล้วจำเลยที่ 2 จึงสั่งรถยนต์มาจากจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์ให้ โจทก์จึงร้องเรียนไปยังบริษัท ส.ซึ่งเป็นผู้ประกอบรถยนต์คันที่โจทก์ซื้อ บริษัทส.มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 (ดิลเลอร์) ได้ดำเนินการติดต่อประสานงานกับจำเลยที่ 2 (โบรคเกอร์) เพื่อเจรจาใช้หนี้ให้โจทก์ หากโจทก์ประสงค์ซื้อรถยนต์ในครั้งต่อไปขอให้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 โดยตรงเพราะจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จำหน่ายจากบริษัท ส.แล้ว พอแปลคำว่าดิลเลอร์ได้ว่าหมายถึงผู้จำหน่าย ประกอบกับจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัท ส. ดังนั้นจำเลยที่ 1จึงเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ของบริษัท ส. ส่วนคำว่าโบรคเกอร์ หมายถึงนายหน้าประกอบกับจำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์เป็นนายหน้า ความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองจึงอยู่ในลักษณะจำเลยที่ 1 เป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นนายหน้าในการขายรถยนต์ให้
โจทก์ซื้อรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ผ่านทางจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดส่งมอบชุดจดทะเบียนแก่โจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ มีวัตถุประสงค์ในการค้าขาย นายหน้าจำเลยที่ ๑ ได้รับมอบหมายจากบริษัทสยามกลการและนิสสันเซลส์ จำกัด ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน การจำหน่ายรถยนต์ดังกล่าวจำเลยที่ ๑ ได้แสดงออกโดยปริยายหรือแสดงออกชัดแจ้งแก่บุคคลทั่วไปว่าให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ บริษัทสยามกลการและนิสสันเซลส์ จำกัด ได้ประกอบรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน รุ่นบิ๊กเอ็ม เอส.เอ.ซี.๐๖๘๓๙๙ เลขตัวถัง เค.ที.จี.ดี.๒๑ – อี.๔๓๙๑๕เลขเครื่องยนต์ ๖๒๗๗๕๓๐ และได้ส่งมอบรถยนต์พร้อมชุดจดทะเบียนให้แก่จำเลยที่ ๑เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป จำเลยที่ ๑ ได้ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒เพื่อจำหน่ายแต่ยังไม่ส่งมอบชุดจดทะเบียนให้แก่จำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๘โจทก์ได้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยที่ ๒ ในราคา ๓๓๕,๐๐๐ บาท ได้ชำระราคาและรับรถยนต์ไปแล้ว จำเลยที่ ๒ แจ้งว่า เอกสารชุดจดทะเบียนอยู่กับจำเลยที่ ๑แต่จนบัดนี้โจทก์ก็ยังไม่ได้รับเอกสารจากจำเลยทั้งสอง โจทก์ซื้อรถยนต์มาเพื่อใช้ขนสินค้าและเครื่องมือในการประกอบอาชีพการงานของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสอง ทำให้โจทก์ไม่สามารถไปจดทะเบียนรถยนต์ต่อกรมการขนส่งทางบกได้จึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากรถยนต์ได้ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องว่าจ้างรถยนต์ของผู้อื่นมาใช้ในอัตราค่าจ้างวันละ ๓,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันมอบชุดจดทะเบียนรถยนต์นิสสัน รุ่นบิ๊กเอ็ม เอส.เอ.ซี.๐๖๘๓๙๙ เลขตัวถัง เค.ที.จี.ดี.๒๑ – อี.๔๓๙๑๕ เลขเครื่องยนต์ ๖๒๗๗๕๓๐ พร้อมเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องแก่โจทก์และร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ ๓,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบชุดจดทะเบียนแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับจำเลยที่ ๑โจทก์ซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ไม่เคยแสดงออกโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนหรือนายหน้าของจำเลยที่ ๑แต่จำเลยที่ ๒ ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยที่ ๑ แล้วสั่งจ่ายเช็คชำระราคารถยนต์มีเงื่อนไขว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังไม่โอนจนกว่าจำเลยที่ ๑ จะได้รับเงินตามเช็คปรากฏว่าเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ส่งมอบชุดจดทะเบียนให้แก่จำเลยที่ ๒ โจทก์ไม่เคยว่าจ้างรถยนต์ผู้อื่น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบชุดจดทะเบียนรถยนต์นิสสัน รุ่นบิ๊กเอ็ม เอส.เอ.ซี. ๐๖๘๓๙๙ เลขตัวถัง เค.ที.จี.ดี.๒๑ – อี.๔๓๙๑๕เลขเครื่องยนต์ ๖๒๗๗๕๓๐ พร้อมเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องแก่โจทก์ และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะส่งมอบชุดจดทะเบียนแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า บริษัทสยามกลการและนิสสันเซลส์ จำกัด เป็นผู้ประกอบรถยนต์ตามฟ้องโจทก์ซื้อรถยนต์ตามฟ้องจากจำเลยที่ ๒ ในราคา ๓๓๕,๐๐๐ บาท โจทก์ชำระราคาครบถ้วนและได้รับมอบรถยนต์ไว้แล้ว จำเลยที่ ๒ รับรถยนต์คันดังกล่าวมาจากจำเลยที่ ๑โดยออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าสั่งจ่ายเงินจำนวน ๓๖๐,๐๐๐ บาท ให้ไว้แก่จำเลยที่ ๑แต่จำเลยที่ ๑ เรียกเก็บเงินตามเช็คเอกสารหมาย ล.๑ ไม่ได้ จำเลยที่ ๑เป็นผู้ครอบครองเอกสารชุดจดทะเบียนรถยนต์คันที่โจทก์ซื้อ
มีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ต้องร่วมกับจำเลยที่ ๒ ส่งมอบชุดจดทะเบียนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า นายยุทธกร ธีรวุฒิกุลรักษ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๘ โจทก์ซื้อรถยนต์ตามฟ้องจากจำเลยที่ ๒โดยขายรถยนต์ของโจทก์ให้จำเลยที่ ๒ ในราคา ๗๕,๐๐๐ บาท ถือเป็นเงินมัดจำวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๘ โจทก์ชำระราคาส่วนที่ค้างทั้งหมดให้จำเลยที่ ๒ และนายชลอชาญเวโรจน์ กรรมการผู้จัดการจำเลยที่ ๑ เบิกความว่า จำเลยที่ ๒ สั่งรถยนต์คันที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๘ โดยออกเช็คเอกสารหมาย ล.๑ลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๓๙ สั่งจ่ายเงินจำนวน ๓๖๐,๐๐๐ บาท มอบให้จำเลยที่ ๑แสดงให้เห็นว่า หลังจากโจทก์วางเงินมัดจำแล้วจำเลยที่ ๒ จึงสั่งรถยนต์คันดังกล่าวมาจากจำเลยที่ ๑ และออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าถึง ๗ เดือนเศษ มอบให้จำเลยที่ ๑เมื่อจำเลยที่ ๒ ไม่ดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์จึงร้องเรียนไปยังนายพรเทพพรประภา ประธานกรรมการบริษัทสยามกลการและนิสสันเซลส์จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบรถยนต์คันที่โจทก์ซื้อ ต่อมาบริษัทสยามกลการและนิสสันเซลส์ จำกัด มีหนังสือลงวันที่ ๑๘เมษายน ๒๕๓๙ ตามเอกสารหมาย จ.๑๒ แจ้งโจทก์ว่าจำเลยที่ ๑ (ดิลเลอร์)ได้ดำเนินการติดต่อประสานงานกับจำเลยที่ ๒ (โบรคเกอร์) เพื่อเจรจาใช้หนี้ให้โจทก์หากโจทก์ประสงค์ซื้อรถยนต์นิสสันในครั้งต่อไปขอให้ติดต่อกับจำเลยที่ ๑ โดยตรงเพราะจำเลยที่ ๑ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จำหน่ายจากบริษัทสยามกลการและนิสสันเซลส์ จำกัดแล้ว ข้อความในเอกสารหมาย จ.๑๒ ที่ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นดิลเลอร์ของบริษัทสยามกลการและนิสสันเซลส์ จำกัด โดยจำเลยที่ ๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จำหน่ายจากบริษัทสยามกลการและนิสสันเซลส์ จำกัด แล้วพอแปลคำว่า ดิลเลอร์ ได้ว่า หมายถึงผู้จำหน่าย ประกอบคำเบิกความของนายชลอที่ว่าจำเลยที่ ๑ มีวัตถุประสงค์เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อนิสสันของบริษัทสยามกลการและนิสสันเซลส์ จำกัด ดังนั้นจำเลยที่ ๑จึงเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ของบริษัทสยามกลการและนิสสันเซลส์จำกัด ส่วนคำว่าโบรคเกอร์นั้นนายชลอเบิกความว่า หมายถึงนายหน้าประกอบกับหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรี เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔ (ตรงกับเอกสารหมาย จ.๔) ระบุวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๒ ในข้อ ๓ ว่าเป็นนายหน้า และจำเลยที่ ๑ ไม่นำสืบปฏิเสธข้อความในเอกสารหมาย จ.๑๒ ว่าไม่เป็นความจริง ดังนั้นความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.๑๒ จึงอยู่ในลักษณะจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ของบริษัทสยามกลการและนิสสันเซลส์ จำกัด โดยมีจำเลยที่ ๒เป็นนายหน้าในการขายรถยนต์ให้จำเลยที่ ๑ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ซื้อรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ผ่านทางจำเลยที่ ๒ ผู้เป็นนายหน้าของจำเลยที่ ๑ ส่วนเช็คเอกสารหมาย ล.๑ นั้น ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ออกเช็คเอกสารหมาย ล.๑ ชำระราคารถยนต์คันที่นำมาขายให้โจทก์ตามที่จำเลยที่ ๑ อ้าง แต่เช็คดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดแก่จำเลยที่ ๑ เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒รับผิดส่งมอบชุดจดทะเบียนแก่โจทก์ ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ ๒ ถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ ๒ รับผิดส่งมอบชุดจดทะเบียนแก่โจทก์ด้วย
พิพากษายืน.

Share