คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9524/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบมอบอำนาจที่ทำในเมืองต่างประเทศไม่อยู่ในบังคับให้ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร
หนังสือมอบอำนาจที่ทำในเมืองต่างประเทศมีเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกลงชื่อเป็นพยานและมีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศที่เกี่ยวข้องแสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้ แม้จะไม่มีกงสุลไทยเป็นพยาน ก็ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจนั้นจะไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง จึงไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 47 วรรคสาม การมอบอำนาจนั้นย่อมชอบด้วยกฎหมายแล้ว
แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับอำนาจศาลตามสัญญาฉบับพิพาทที่กำหนดให้คู่สัญญาดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแห่งประเทศอังกฤษเพียงแห่งเดียว จะทำขึ้นก่อนที่จะมีการจัดตั้งและเปิดทำการศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า- ระหว่างประเทศกลางก็ตาม แต่คดีนี้เกี่ยวด้วยหนี้เหนือบุคคล จำเลยทั้งหมดต่างมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหมดต่อศาลในประเทศไทย คือ ศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4(2) เดิม(มาตรา 4(1) ที่แก้ไขใหม่) ต่อมาเมื่อ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับศาลทรัพย์สิน-ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งมีเขตศาลตลอดกรุงเทพมหานคร และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตาม พ.ร.บ.มาตรา 5 และมาตรา 7(3) โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หาจำต้องนำไปฟ้องยังศาลแห่งประเทศอังกฤษแต่เพียงแห่งเดียวไม่
พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 68 วรรคสอง, 80 และ 94 ซึ่งบัญญัติให้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการหรือเครื่องหมายร่วมเฉพาะที่ได้จดทะเบียนแล้วต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนด้วย มีผลใช้บังคับในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 แต่ขณะทำสัญญาบทกฎหมายดังกล่าวยังไม่ใช้บังคับ และกฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับเครื่องหมายบริการขณะนั้นยังไม่มี เมื่อสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับได้ และบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายสารบัญญัติ ไม่มีผลใช้บังคับย้อนหลังไม่ทำให้สัญญาซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไปหรือตกเป็นโมฆะ
สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างบริษัทผู้อนุญาตกับจำเลยที่ 1 ผู้รับอนุญาตมีข้อตกลงว่า “ให้ผู้อนุญาตโอนสิทธิและภาระผูกพันของตนได้อย่างอิสระ” และได้มีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ทราบโดยทางโทรสารและไปรษณีย์ลงทะเบียนแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าสภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ บริษัทผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิจึงโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนได้โดยชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก และเมื่อการโอนดังกล่าวมีการแจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ทราบแล้วตามมาตรา 306 วรรคแรก การโอนนั้นจึงใช้ยันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้
การโอนสิทธิและอนุญาตให้ใช้สิทธิในชื่อทางการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายการค้า และสิทธิในระบบปฏิบัติการที่มีอยู่แล้วก่อนนำมาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายบริการในประเทศไทยมิใช่การโอนสิทธิในเครื่องหมายบริการที่ได้รับการจดทะเบียน จึงไม่ต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามแบบแห่งนิติกรรมดังที่กำหนดไว้มาตรา 51 วรรคสอง และ 68 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า-ระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ ก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐตามคำขอบังคับของโจทก์ท้ายคำฟ้องเท่านั้น
แม้ลูกหนี้มีสิทธิชำระหนี้เงินดอลลาร์สหรัฐตามคำพิพากษาเป็นเงินบาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคแรก แต่การเปลี่ยนเงินก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 196 วรรคสอง ที่ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันอันเนื่องมาจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน การชำระหนี้ด้วยเงินไทยและการเปลี่ยนเงินเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี จึงไม่ต้องกำหนดไว้ในคำพิพากษา แต่การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทโดยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีคำพิพากษาซึ่งอาจมีอัตราแลกเปลี่ยนแตกต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินในเวลาที่มีการใช้เงิน หากลูกหนี้ต้องชำระหนี้เป็นเงินบาทโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันอ่านคำพิพากษาซึ่งถ้าเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ แลกเป็นเงินบาทได้มากกว่าในวันชำระเงินจริง ก็จะทำให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ด้วยเงินบาทเป็นจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินบาทที่คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินและมีผลทำให้จำนวนเงินที่ต้องชำระหนี้เป็นเงินบาทนั้นคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐสูงกว่าจำนวนเงินตามคำขอบังคับท้ายคำฟ้องของโจทก์อันถือเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและ วิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง และเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมาศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็เห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องเฉพาะกรณีที่จะมีผลให้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน ๖๐๘,๙๗๓.๙๑ ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๑๓๑,๕๗๑.๙๐ ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๓๙๔,๗๑๔ ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ และที่ ๑๐ ถึงที่ ๑๑ ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์มิได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย การมอบอำนาจให้ฟ้องร้องคดีไม่ชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิในเครื่องหมายบริการ เนื่องจากผู้โอนไม่มีสิทธิ การโอนสิทธิไม่ชอบและไม่มีการบอกกล่าวแก่จำเลยทั้งสิบเอ็ด โจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาโดยมิได้ทำการส่งเสริมการเผยแพร่ การวิจัยตลาดและช่วยเหลือในการประกอบกิจการโรงแรมของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ไม่เคยค้างชำระค่าสิทธิ เงินสมทบ และค่าธรรมเนียม การศึกษา โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ทั้งโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายดังกล่าวในประเทศไทย จึงใช้สิทธิฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิไม่มีตราประทับของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ สัญญาตกลงให้ฟ้องร้องต่อศาลที่ประเทศอังกฤษ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลในประเทศไทย จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกันและมิได้ลงนามในสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๙ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๑๑ ชำระเงินจำนวน ๘๐,๒๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๖๐,๒๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๐ เป็นต้นไป และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นวันทำการในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษา กับให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๑๑ ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดเป็น ค่าทนายความจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๖ และที่ ๘ ถึงที่ ๑๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๖ และที่ ๘ ถึงที่ ๑๑ มีว่า การมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าในข้อที่จำเลยดังกล่าวอ้างว่าใบมอบอำนาจมิได้ปิดอากรแสตมป์ นั้น ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจว่า โจทก์ได้ขออนุญาตศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำหนังสือมอบอำนาจไปดำเนินการปิดอากรแสตมป์รวมทั้งเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มก่อนศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาแล้วประกอบกับใบมอบอำนาจดังกล่าวได้จัดทำขึ้นที่มลรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกาอันเป็นใบมอบอำนาจที่ทำในเมืองต่างประเทศ จึงไม่อยู่ในบังคับให้ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ส่วนประเด็นว่า ใบมอบอำนาจไม่มีกงสุลไทยเป็นพยานจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจมีเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกลงชื่อเป็นพยานและมีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศที่เกี่ยวข้องแสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้ แม้จะไม่มีกงสุลไทยเป็นพยาน ก็ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ใบมอบอำนาจนั้นจะไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง จึงไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทาางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๗ วรรคสาม การมอบอำนาจของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๖ และที่ ๘ ถึงที่ ๑๑ อุทธรณ์ต่อไปว่าตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิของโรงแรมอินเตอร์เนชั่นแนล ฮอลิเดย์ อินน์ กำหนดให้คู่สัญญาดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแห่งประเทศอังกฤษเพียงแห่งเดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นการทำความตกลงก่อนที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มีผลบังคับใช้ ดังนั้น ข้อตกลงเกี่ยวกับอำนาจศาลตามสัญญาจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เห็นว่า แม้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจะทำขึ้นก่อนที่จะมีการจัดตั้งและเปิดทำการศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทสกลางก็ตาม แต่คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวด้วยหนี้เหนือบุคคล จำเลยทั้งหมดต่างมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหมดต่อศาลในประเทศไทยคือศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔ (๒) เดิม (มาตรา ๔ (๑) ที่แก้ไขใหม่) ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ ใช้บังคับ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งมีเขตศาลตลอดกรุงเทพมหานคร และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา ๕ และมาตรา ๗ (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หาจำต้องนำไปฟ้องยังศาลแห่งประเทศอังกฤษแต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นไม่
ที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๖ และที่ ๘ ถึงที่ ๑๑ อุทธรณ์ว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิได้มีการทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๔ ซึ่งขณะนั้นพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่ต่อมาเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของบริษัทบาสส์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ เอ็น.วี. จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่คือจะต้องนำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๘ เมื่อไม่นำไปจดทะเบียน จึงไม่ได้รับการรับรองและไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะ เห็นว่า พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๘ วรรคสอง, ๘๐ และ ๙๔ ซึ่งบัญญัติให้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ หรือเครื่องหมายร่วมเฉพาะที่ได้จดทะเบียนแล้วต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนด้วย มีผลใช้บังคับในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ขณะทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ บทกฎหมายดังกล่าวยังไม่ใช้บังคับและกฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับเครื่องหมายบริการขณะนั้นยังไม่มี จึงไม่มีการ จดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าว สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายบริการนั้นย่อมไม่อาจนำไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนได้อยู่ในตัว เมื่อสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับได้ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๘ วรรคสอง , ๘๐ และ ๙๔ เป็นกฎหมายสารบัญญัติ จึงไม่มีผลใช้บังคับย้อนหลังไปทำให้สัญญาซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไปหรือตกเป็นโมฆะ
ที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๖ และที่ ๘ ถึงที่ ๑๑ อุทธรณ์ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างบริษัทบาสส์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ เอ็น.วี กับบริษัทฮอลิเดย์ อินน์ อิงค์ . ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้นเพราะไม่มีการบอกกล่าวมายังจำเลยที่ ๑และยังไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖ ดังนั้น การที่บริษัทฮอลิเดย์ อินน์ อิงค์ . โอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ต่อมา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกันนั้น เห็นว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ซึ่งทำขึ้นระหว่างบริษัทบาสส์ ยูโรเปียน โฮลดิ้งส์ เอ็น.วี. (บริษัทบาสส์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ เอ็น.วี.) ผู้อนุญาตกับจำเลยที่ ๑ ผู้รับอนุญาตมีข้อตกลงว่า “ให้ผู้อนุญาตโอนสิทธิและภาระการผูกพันของตนได้อย่างอิสระ” และได้มีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ลูกหนี้ทราบโดยทางโทรสารและไปรษณีย์ลงทะเบียนพร้อมคำแปลแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าสภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ บริษัทบาสส์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ เอ็น.วี. จึงโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บริษัท ฮอลิเดย์ อินน์ อิงค์. ได้โดยชอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๓ วรรคแรก และเมื่อการโอนดังกล่าวมีการแจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ลูกหนี้ทราบแล้วตามมาตรา ๓๐๖ วรรคแรก การโอนนั้นจึงใช้ยันจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ ดังนี้บริษัทฮอลิเดย์ อินน์ อิงค์. จึงมีสิทธิโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาให้โจกท์โดยชอบเช่นเดียวกัน
ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๖ และที่ ๘ ถึงที่ ๑๑ อุทธรณ์ว่าโจทก์มิได้นำสืบหรือแสดงหลักฐานให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า โจทก์ได้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการมาโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และเมื่อโจทก์ยังมิได้รับโอนเครื่องหมายบริการทางทะเบียนต่อกองทะเบียนและหนังสือสำคัญกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิอ้างความเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการคำว่า Holiday Inn โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ในข้อนี้ ปรากฏตามสัญญาโอนสิทธิซึ่งรวมถึงสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างบริษัทบาสส์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ เอ็น.วี. ผู้อนุญาตกับบริษัทจำเลยที่ ๑ ผู้รับอนุญาตว่าเป็นการโอนสิทธิและอนุญาตให้ใช้สิทธิในชื่อทางการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายการค้า และสิทธิในระบบปฏิบัติการ Holiday Inn ที่บริษัทบาสส์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ เอ็น.วี. มีอยู่แล้วก่อนนำมาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายบริการ Holiday Inn ในประเทศไทย มิใช่การโอนสิทธิในเครื่องหมายบริการที่ได้รับการจดทะเบียน สัญญาโอนสิทธิตลอดจนสัญญาที่บริษัทดังกล่าวอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ ใช้สิทธิทั้งหมดเกี่ยวกับ Holiday Inn ซึ่งรวมทั้งเครื่องหมายบริการ Holiday Inn ดังกล่าวจึงไม่ต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามแบบแห่งนิติกรรมดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๑ วรรคสอง และ ๖๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ เมื่อสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิเป็นสิทธิเรียกร้องซึ่งสภาพแห่งสิทธิเปิดช่องให้โอนกันได้ การโอนสิทธิดังกล่าวจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๓ วรรคแรก และเมื่อได้โอนสิทธิเรียกร้องนั้นไปโดยชอบ สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันของจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๖ และที่ ๘ ถึงที่ ๑๑ ที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้นย่อมตกไปได้แก่โจทก์ผู้รับโอนในที่สุดด้วยตามมาตรา ๓๐๕ วรรคแรก ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือและได้มีการ บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้เป็นหนังสือแล้ว โจทก์ย่อมยกการโอนดังกล่าวขึ้นยันจำเลยได้
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๑๑ ร่วมกันรับผิดโดยกำหนดจำนวนเงินที่ต้องชำระเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐและให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครโดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นวันทำการในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษานั้น เห็นว่า ตามคำฟ้อง โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๑๑ ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ ก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐตามคำขอบังคับของโจทก์ท้ายคำฟ้องเท่านั้น แม้จำเลยดังกล่าวมีสิทธิชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงินบาทตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๖ วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า “ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศ ท่านว่าจะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้” ก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงเงินก็ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๖ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ” การเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน” ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้โจทก์และจำเลยดังกล่าวได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันอันเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งการชำระหนี้ด้วยเงินไทยและการเปลี่ยนเงินดังกล่าวนี้ล้วนเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี จึงไม่ต้องกำหนดไว้ในคำพิพากษา แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกลับมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทโดยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่มีคำพิพากษาซึ่งอาจมีอัตราแลกเปลี่ยนแตกต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนในเวลาที่มีการใช้เงิน ดังนี้ หากมีความจำเป็นที่จำเลยดังกล่าวต้องชำระหนี้เป็นเงินบาทและใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันอ่านคำพิพากษาซึ่งถ้าเงิน ๑ ดอลลาร์สหรัฐ ในวันนั้นมีอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทมากกว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทในวันชำระเงินจริง ก็อาจทำให้จำเลยดังกล่าวต้องชำระหนี้ด้วยเงินบาทเป็นจำนวนที่สูงกว่าจำนวนเงินบาทที่คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงิน ซึ่งจะมีผลทำให้จำนวนเงินที่ต้องชำระหนี้เป็นเงินบาทนั้นคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐสูงกว่าจำนวนเงินตามคำขอบังคับท้ายคำฟ้องของโจทก์ได้ อันถือเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๒ วรรคหนึ่ง และเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔๕ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ (๑) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็เห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า การเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน แต่ไม่เกินจำนวนเงินบาทที่คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่มีคำพิพากษาตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๖ และที่ ๘ ถึงที่ ๑๑ ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ๖๐,๐๐๐ บาท และในชั้นนี้ ๔๐,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลให้จำเลยดังกล่าวใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี สำหรับจำเลยที่ ๗ ให้จำเลยที่ ๗ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๖ และที่ ๘ ถึงที่ ๑๑ ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๖๐,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะดคี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share