คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์รายการที่ 1 ต่อมาผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตน ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด และคำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดี ไปยึดทรัพย์ จึงเป็นการกระทำของโจทก์ไม่เกี่ยวกับจำเลย อีกทั้งตามรายงานการยึดก็ปรากฏว่า ผู้แทนโจทก์เป็นผู้ชี้ให้ยึดโดยยืนยันว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยจริง หากเกิดความเสียหายผู้แทนโจทก์ยินยอมรับผิดชอบเองทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าทรัพย์ดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลย ไม่อาจนำไปขายทอดตลาดได้และต้องปล่อยทรัพย์ที่ยึดไป โจทก์จึงมีหน้าที่ ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 และตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,241,931 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม ต่อมาจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวโจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์รวม 3 รายการ ได้แก่เครื่องพิมพ์ลายผ้าพร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน ราคาประมาณ 600,000 บาท เครื่องพิมพ์ลายผ้า หมายเลขทะเบียนและรหัสเท่าใดไม่ปรากฏ ราคาประมาณ 100,000 บาท และเครื่องยึดผ้าและอบผ้าพร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ทำงาน ราคาประมาณ 200,000 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดทั้ง 3 รายการ
ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องว่า ทรัพย์รายการที่ 1 ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์ผ้ายี่ห้อ ROKKI รุ่น RE – 1500 s หมายเลขทะเบียน 1160รหัส 35 320 201 0399 พร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ทำงานทั้งหมดเป็นของผู้ร้องขัดทรัพย์ ไม่ใช่ของจำเลยศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์รายการที่ 1 ที่ยึดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2537คู่ความไม่ได้อุทธรณ์และฎีกา คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงแจ้งให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายทรัพย์รายการที่ 1 เป็นเงิน 21,000 บาท
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ทำการยึดทรัพย์โดยสุจริตการยึดทรัพย์รายการที่ 1 เกิดการผิดพลาดเพราะจำเลยฉ้อฉลและปกปิดข้อเท็จจริง จำเลยจึงต้องเป็นผู้รับผิดชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย คำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีเป็นการยึดแล้วไม่มีการขายโจทก์มีหน้าที่รับผิดในค่าธรรมเนียม คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบแล้ว ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อเดียวว่า ในการยึดทรัพย์โจทก์กระทำในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เป็นการกระทำโดยสุจริตการยึดทรัพย์รายการแรกเกิดการผิดพลาด เกิดจากการฉ้อฉล จำเลยต้องเป็นผู้รับผิดชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย เห็นว่าข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์รายการที่ 1ต่อมาผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด และคำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนี้การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ จึงเป็นการกระทำของโจทก์ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่โจทก์อ้างว่า การยึดทรัพย์ของโจทก์กระทำโดยสุจริตเพราะกรรมการของจำเลยไม่โต้แย้งว่าทรัพย์รายการที่ 1 เป็นของผู้ร้องขัดทรัพย์เป็นการฉ้อฉลโจทก์นั้น ตามรายงานการยึดลงวันที่ 1 มิถุนายน 2537ผู้แทนโจทก์เป็นผู้ชี้ให้ยึด โดยยืนยันว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยจริงหากเกิดความเสียหายผู้แทนโจทก์ยินยอมรับผิดชอบเองทั้งสิ้นดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทรัพย์ดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยไม่อาจนำไปขายทอดตลาดได้ และต้องปล่อยทรัพย์ที่ยึดไป โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 และตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พิพากษายืน

Share