คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์เฉพาะความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ขอให้ยกฟ้องหรือลงโทษในสถานเบา ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้เฉพาะในเรื่องที่ขอให้ลงโทษสถานเบา ส่วนอุทธรณ์ที่ขอให้ยกฟ้องไม่รับวินิจฉัยเพราะมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงถือว่าปัญหาข้อนี้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ แต่ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาเป็นความผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
หลังจากจำเลยกับ จ. ร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย จ. ขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับพากันหลบหนีไป ผู้เสียหายขับรถยนต์กระบะติดตามจำเลยกับ จ. ไปในระยะห่างประมาณ 100 เมตร จ. ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายไป 2 นัด โดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด แม้จำเลยจะทราบว่า จ. มีอาวุธปืนติดตัวไปด้วยแต่จำเลยก็ไม่มีอาวุธปืนติดตัวไปต่างหากขณะที่ จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจำเลยกำลังขับรถจักรยานยนต์อยู่ไม่มีโอกาสที่จะรู้เห็นถึงการกระทำของ จ. ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้พูดหรือกระทำการใด ๆ อันอาจถือได้ว่าเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน จ. ในการพยายามฆ่าผู้เสียหาย การที่ จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเป็นการกระทำของ จ. ตามลำพังอันเป็นการตัดสินใจของ จ. โดยฉับพลันในขณะนั้นเอง ถือไม่ได้ว่า จำเลยเป็นตัวการร่วมกับ จ. ในการพยายามฆ่าผู้เสียหาย

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2154/2542 ของศาลชั้นต้นแต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คงมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ป.อ. มาตรา 339, 340 ตรี, 288, 289, 80, 83, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินสด 4,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนฯ ร่วมกันพาอาวุธปืนฯ และร่วมกันชิงทรัพย์ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ป.อ. มาตรา 83, 289 (7), 80 ประกอบมาตรา 52 (1), 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนฯ จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนฯ จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันชิงทรัพย์ฯ จำคุก 18 ปี ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นฯ จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดสามฐานแรกมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนฯ จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนฯ จำคุก 3 เดือน ฐานร่วมกันชิงทรัพย์ฯ จำคุก 9 ปี ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นฯ คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 จำคุก 33 ปี 4 เดือน รวมจำคุกจำเลย 42 ปี 13 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินสด 4,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ฯ ร่วมกันมีอาวุธปืนฯ และร่วมกันพาอาวุธปืนฯ ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพราะจำเลยมิได้อุทธรณ์ โดยจำเลยอุทธรณ์เฉพาะความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นฯ ขอให้ยกฟ้องหรือลงโทษในสถานเบา แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับวินิจฉัยให้เฉพาะในเรื่องที่ขอให้ลงโทษสถานเบาเท่านั้น ส่วนอุทธรณ์ที่ขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ไม่รับวินิจฉัยเพราะมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องถือว่าปัญหาข้อนี้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 อย่างไรก็ตาม ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นฯ หรือไม่นี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ในปัญหาตามฎีกาของจำเลยดังกล่าวข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า หลังจากที่จำเลยกับนายจักรพงษ์ร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 ไปจากผู้เสียหายที่ 2 แล้ว นายจักรพงษ์ขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับพากันหลบหนีไปผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งทำงานอยู่ข้างร้านที่เกิดเหตุได้ทราบเหตุจึงขับรถยนต์กระบะติดตามจำเลยกับนายจักรพงษ์ไปในระยะห่างประมาณ 100 เมตร นายจักรพงษ์ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 3 ไป 2 นัด โดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด ดังนี้ เห็นว่า โจทก์มิได้นำสืบเลยว่าจำเลยกับนายจักรพงษ์มีเจตนาจะฆ่าผู้ใด คงได้ความเพียงว่าจำเลยกับนายจักรพงษ์มีเจตนาที่จะชิงทรัพย์เท่านั้น แม้จำเลยจะทราบว่านายจักรพงษ์มีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย แต่จำเลยก็ไม่มีอาวุธปืนติดตัวไปต่างหาก ขณะที่นายจักรพงษ์ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 3 จำเลยกำลังขับรถยนต์อยู่ ไม่มีโอกาสที่จะรู้เห็นถึงการกระทำของนายจักรพงษ์แต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้พูดหรือกระทำการใด ๆ อันอาจถือได้ว่าเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนนายจักรพงษ์ในการพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3 การที่นายจักรพงษ์ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 3 จึงเป็นการกระทำของนายจักรพงษ์ตามลำพังอันเป็นการตัดสินใจของนายจักรพงษ์โดยฉับพลันในขณะนั้นเอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับนายจักรพงษ์ในการพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มาจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นฯ ตาม ป.อ. มาตรา 289 (7) ประกอบมาตรา 80 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6.

Share