แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอให้จำเลยคืนรถจักรยานยนต์และเสื้อยืดที่ถูกปล้นไปหรือใช้ราคาแทนแก่ผู้เสียหาย เมื่อได้ฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้องจริงและได้ความว่าผู้เสียหายได้รับรถจักรยานยนต์ที่ถูกปล้นคืนไปแล้ว จำเลยจึงควรรับผิดคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เพียงเท่าที่ผู้เสียหายยังไม่ได้คืน ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ รวม ๖๐,๔๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง, ๓๔๐ ตรี, ๘๓ จำคุก ๑๘ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์รวม ๖๐,๔๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง มีคนร้าย ๓ คน ร่วมกัน ปล้นทรัพย์เสื้อยืด ๑ ตัว ๔๐๐ บาท ของนายมนตรี หอมหวล ผู้เสียหาย และรถจักรยานยนต์ ๑ คัน ราคา ๖๐,๐๐๐ บาท ของบริษัทแสงฟ้าคาวาซากิ จำกัด ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไป โดยคนร้ายมีและใช้อาวุธปืนสั้นจี้บังคับ ผู้เสียหายและใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงเชื่อได้ว่า จำเลยเป็น คนร้ายที่ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้อง อย่างไรก็ดี ตามคำขอท้ายคำฟ้อง โจทก์ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ ราคาทรัพย์รวม ๖๐,๔๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย แต่ได้ความจากคำเบิกความของนายสาโรจน์พยานโจทก์ตอบทนายจำเลย ถามค้านว่า พยานไปรับรถจักรยานยนต์ที่ถูกปล้นคืนจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอคลองท่อมและบริษัทแสงฟ้าคาวาซากิ จำกัด ได้รับรถคันดังกล่าวคืนไปแล้ว ดังนั้น จำเลยจึงควรรับผิดคืนเสื้อยืดหรือใช้ราคาทรัพย์เพียง ๔๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๔๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค ๘.