แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเรียกค่าเสียหายในส่วนของค่าขาดประโยชน์กรณีผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคารถยนต์ที่เช่าซื้อ ค่าขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์ออกให้เช่าและค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์คืนเป็นเงิน ๒,๑๘๖,๓๐๘.๔๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
สำหรับจำเลยที่ ๒ ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๒ ออกเสียจาก สารบบความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๙๐๒,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๖,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๘๔๒,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว
คดีมีปัญหาว่า ค่าเสียหายในส่วนของค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า การเรียกค่าเสียหายดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.