แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ 13 ปีเศษ ผู้เสียหายพักอาศัยและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตามมาตรา 284 วรรคแรก ให้ลงโทษฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร จำคุก
10 ปี ส่วนความผิดฐานกระทำอนาจารตามมาตรา 279 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี และความผิดฐานกระทำชำเรา เด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามมาตรา 277 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 15 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารและความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม มาตรา 91 เมื่อรวมโทษจำคุกทั้งหมดที่ศาลชั้นต้นวางโทษแล้ว ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โทษจำคุกในความผิดฐานกระทำอนาจารตามมาตรา 279 วรรคแรก จึงถูกลดโทษลงเหลือ 8 เดือน และโทษจำคุกในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามมาตรา 277 วรรคแรก ถูกลดโทษลงเหลือ 2 ปี 8 เดือน อันเป็นการพิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ความผิดทั้งสองฐานนี้จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก
ความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารและความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ กำหนดโทษจึงคงเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว โทษจำคุกคงเหลือ 6 ปี 8 เดือน ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก
จำเลยเรียกเด็กหญิง พ. ไปพบเพื่อบอกให้ผู้เสียหายไปหาจำเลยที่กุฏิ เมื่อผู้เสียหายไปหาจำเลยแล้ว จำเลยได้ว่าจ้างรถยนต์กระบะพาผู้เสียหายไปวัดอื่นโดยให้ผู้เสียหายพักหลับนอนกับจำเลยที่กุฏิวัด 2 คืน ระหว่างนั้นจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ ผู้เสียหายเป็นเด็กหญิงอายุ 13 ปีเศษ ย่อมเกรงใจจำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุผู้อุปการะ ครอบครัวของผู้เสียหายเป็นธรรมดาจึงจำต้องยอมติดตามจำเลยไปด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจครอบงำผิดครองธรรม ทั้งย่อมเป็นพฤิตการณ์บังคับให้ผู้เสียหายจำยอมให้จำเลยกระทำทำอนาจารและกระทำชำเราในเวลากลางคืนอันเป็นการกระทำที่ล่วงอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้เสียหาย และเป็นการพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมจำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารและมีความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๙ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๙ เวลากลางวัน ต่อเนื่องกันจำเลยซึ่งขณะนั้นเป็นพระภิกษุพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุยังไม่เกินสิบห้าปี (อายุ ๑๓ ปีเศษ) ไปเสียจากบิดา โดยปราศจากเหตุอันสมควรและเพื่อการอนาจารและเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๙ เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมคืออาศัยความเป็นพระภิกษุที่เคยให้ความอุปการะผู้เสียหายมาก่อน จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายด้วยการกอดและจูบ และเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๙ เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยผู้เสียหายยินยอมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗, ๒๘๔, ๒๗๘, ๒๗๗ และ ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคแรก, ๒๗๙ วรรคแรก, ๒๘๔ วรรคแรก, ๓๑๗ วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารและพาหญิงไปเพื่อการอนาจารเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๑๐ ปี ฐานกระทำอนาจารเด็ก จำคุก ๑ ปี และฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก ๔ ปี รวมจำคุก ๑๕ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารและพาหญิงไปเพื่อ การอนาจารเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ เมื่อรวมโทษจำคุกทั้งหมดที่ศาลชั้นต้นวางโทษแล้ว ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยมีกำหนด ๑๐ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ ๑๓ ปีเศษ ผู้เสียหายพักอาศัยและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดา คดีนี้เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา วรรคสาม เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๔ วรรคแรก ให้ลงโทษฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร จำคุก ๑๐ ปี ส่วนความผิดฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙ วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี และความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก ๔ ปี รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด ๑๕ ปี ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารและความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ เมื่อรวมโทษจำคุกทั้งหมดที่ศาลชั้นต้นวางโทษแล้ว ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คง จำคุกจำเลยมีกำหนด ๑๐ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้นโทษจำคุกในความผิดฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙ วรรคแรก จึงถูกลดโทษลงเหลือ ๘ เดือน และโทษจำคุกในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคแรก ถูกลดโทษลงเหลือ ๒ ปี ๘ เดือน อันเป็นการพิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี ความผิดทั้งสองฐานนี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคแรก จำเลยฎีกาคัดค้านดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค ๖ ว่าไม่ได้กระทำความผิด จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยข้อนี้ไว้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว และถือว่าข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๖ ว่า จำเลยกระทำอนาจารและกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ดังที่โจทก์ฟ้อง
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยคงมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารและความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารหรือไม่ ทั้งนี้ความผิดทั้งสองฐานนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก ๑๐ ปี ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาแก้เป็นว่า เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ กำหนดโทษจึงคงเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งเมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้วโทษจำคุกคงเหลือ ๖ ปี ๘ เดือน ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคแรก ปัญหานี้ผู้เสียหายและพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องตรงกันว่า วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๙ เวลา เที่ยงวัน จำเลยเรียกพยานโจทก์ไปพบเพื่อบอกให้ผู้เสียหายไปหาจำเลยที่กุฏิ เมื่อผู้เสียหายไปหาจำเลย จำเลยชวนไปเที่ยวที่วัดแล้วจำเลยว่าจ้างรถยนต์กระบะพาผู้เสียหายและพยานโจทก์ไปวัดโดยให้ผู้เสียหายพักหลับนอนกับจำเลยที่กุฏิวัด ๒ คืน ระหว่างนั้นจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความรับว่า พา ผู้เสียหายเดินทางไปวัดจริง กระทั่งวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๙ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจติดตามมาพบผู้เสียหายขณะพักอาศัยอยู่กับจำเลย เห็นว่า ผู้เสียหายเป็นเด็กหญิงอายุ ๑๓ ปีเศษ ย่อมเกรงใจจำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุผู้อุปการะ ครอบครัวของผู้เสียหายเป็นธรรมดา จึงจำต้องยอมติดตามจำเลยไปด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม ทั้งย่อมเป็นพฤติการณ์บังคับให้ผู้เสียหายจำยอมให้จำเลยกระทำอนาจารและกระทำชำเราในเวลากลางคืนอันเป็นการกระทำที่ล่วงอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้เสียหายและเป็นการพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารและมีความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร
พิพากษายืน