แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่าฎีกาข้อ ก. เป็นข้อที่ มิได้ยกขึ้นมาว่ากันในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาข้อ ข. เป็น ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตาม ศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ทั้งข้อ กและขต้องห้ามฎีกา จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกา
จำเลยเห็นว่า คดีนี้พนักงานอัยการได้นำคดีมาฟ้องต่อศาล โดยที่พนักงานสอบสวนเจ้าของท้องที่มิได้สอบสวนและตั้งข้อหา ความผิด จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 และเป็นการฟ้องผิดศาลอันฝ่าฝืนพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ถือว่าฟ้องของโจทก์เป็นโมฆะ ศาลต้องยกฟ้อง ดังนี้แม้ว่าจำเลย จะมิได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมากล่าวกันในศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์ก็ตาม จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ชี้ขาดได้ ซึ่งหากศาลไม่วินิจฉัยข้อผิดพลาดและฝ่าฝืนกฎหมาย ของโจทก์ ย่อมจะเป็นการคลาดเคลื่อนต่อหลักความยุติธรรมอย่างยิ่ง โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไปด้วย
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 52)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83จำคุก 5 ปี แต่เนื่องจาก ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่มากมีเหตุ บรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลย 3 ปี 4 เดือน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 51)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 52)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาข้อ ก. เกี่ยวกับอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอำนาจฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่าคำฟ้องระบุสถานที่เกิดเหตุไว้โดยชัดแจ้งซึ่งเกี่ยวเนื่องถึงการสอบสวนและการฟ้องต่อศาลซึ่งกระทำโดยชอบตามกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลย จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ประกอบด้วยประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา ของจำเลยในข้อนี้นั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง