คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9318/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาฟ้องคดีต่อศาลนับเป็นข้อสาระสำคัญในการฟ้องเรียกคดีเรียกเงินค่าทดแทนการเวนคืน เพราะหากล่วงพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวไปแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จำเลยทั้งสามในฐานะผู้ร่วมกันประกอบวิชาชีพทางกฎหมายและรับจ้างโจทก์ดำเนินคดีฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนควรจะต้องรู้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นอย่างดี ทำนองเดียวกับต้องรู้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการยื่นคำให้การต่อสู้คดีหรือกำหนดเวลาในการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา จำเลยทั้งสามมีความสำคัญผิดในข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทน และไม่ได้คำนึงว่าจะต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลให้ทันกำหนดเวลาที่มีสิทธิฟ้องคดี การที่จำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่มีสิทธิฟ้องคดีแล้ว ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รับจ้างดำเนินคดีก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการผิดสัญญา จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,786,396.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,644,125.88 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายให้ชัดเจนถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอันเป็นสาระสำคัญของการจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,500,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กันยายน 2537) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และ ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ 800,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีนั้น พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า “…ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์” และมาตรา 26 บัญญัติว่า “…ในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว…” จากบทบัญญัตินี้แสดงว่าในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนซึ่งอุทธรณ์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาหกสิบวันดังกล่าว สำหรับกรณีของโจทก์ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2534 แล้วมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวัน คือ ภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2534 ดังนั้น โจทก์จะต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2534 อันเป็นวันพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ กล่าวคือ จะต้องฟ้องภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2535 ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาดังกล่าว นับเป็นข้อสาระสำคัญในการฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทน เพราะหากล่วงพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวไปแล้ว ผู้มีสิทธิ ได้รับเงินค่าทดแทนย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จำเลยทั้งสามในฐานะผู้ร่วมกันประกอบวิชาชีพทางกฎหมายและรับจ้างโจทก์ดำเนินคดีฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนควรจะต้องรู้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นอย่างดี ทำนองเดียวกับต้องรู้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการยื่นคำให้การต่อสู้คดีหรือกำหนดเวลาใน การยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา เป็นต้น และมีหน้าที่ต้องจัดทำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลให้ทันภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2535 การที่จำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 ซึ่งพ้นกำหนดเวลาที่มีสิทธิฟ้องคดีแล้ว ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รับจ้างดำเนินคดีก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการผิดสัญญา จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่า โจทก์เสียหายเพียงใด เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างนำสืบไม่ได้แน่ชัดว่าค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสามมีเพียงใด ศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้ได้ปรากฏว่าโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนไปแล้วจำนวน 786,800 บาท เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับ ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนและผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากการที่ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีทำเล ที่ตั้งดีขึ้น ทำให้มีราคาสูงขึ้นแล้ว ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 800,000 บาท จึงนับว่าเหมาะสม
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 3,000 บาท.

Share