คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8799/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ดำเนินธุรกิจเพื่อหากำไร การที่โจทก์รับจำนองที่ดินในราคา 8,000,000 บาท เป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ดินดังกล่าวมีราคาที่แท้จริงสูงกว่า 8,000,000 บาท หากโจทก์ตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ให้ดีก่อนฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์ย่อมทราบว่าจำเลยที่ 2 มีที่ดินที่จำนองแก่โจทก์อีก 5 แปลง ซึ่งสามารถยึดมาชำระหนี้จำนองได้และยังมีเงินเหลือที่จะนำมาชำระหนี้ในคดีนี้ได้อีกด้วย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด
แม้หนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเป็นหนี้ร่วม และจำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ ให้โจทก์ได้ทั้งหมดก็ตาม แต่การมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน และโจทก์สามารถเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ได้เต็มจำนวน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ไม่เคยติดต่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ ๑ ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายพิเคราะห์แล้วมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ดำเนินธุรกิจเพื่อหากำไร การที่โจทก์รับจำนองที่ดินในราคา ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ดินดังกล่าวมีราคาที่แท้จริงสูงกว่า ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ ๒ ว่า ที่ดินดังกล่าวมีราคา ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท หากโจทก์ตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ ให้ดีก่อนฟ้องคดีแล้ว โจทก์ย่อมทราบว่าจำเลยที่ ๒ มีที่ดินที่จำนองแก่โจทก์อีก ๕ แปลง ซึ่งสามารถยึดมาชำระหนี้จำนวองได้และยังมีเงินเหลือที่จะนำมาชำระหนี้ในคดีนี้ได้อีกด้วย จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด
สำหรับจำเลยที่ ๑ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่า หนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดเป็นหนี้ร่วม และจำเลยที่ ๒ มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ได้ทั้งหมดก็ตาม แต่การมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ลูกหนี้ร่วมแต่ละคน และโจทก์สามารถเรียกให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ได้เต็มจำนวน เมื่อข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ ๑ มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘ (๕) นอกจากนี้ยังปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยติดต่อขอชำระหนี้ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ ๑ ล้มละลาย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ .

Share