คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล ดังนี้ โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ
ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานเบิกความเท็จมิได้บรรยายว่าจำเลยเบิกความว่าอย่างไร ที่โจทก์ถือว่าจำเลยเบิกความเท็จในข้อสำคัญในคดี ส่วนในความผิดฐานนำสืบหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จก็มิได้บรรยายว่าเหตุเกิดขึ้นเมื่อไร ดังนี้ เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ประมูลราคาก่อสร้างท่อร้อยสายเคเบิ้ลใต้ดินได้ และได้ทำสัญญากับองค์การโทรศัพท์ จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 ได้ขอเข้าเป็นหุ้นส่วนร่วมกับโจทก์ที่ 1 ด้วย โจทก์ทั้งสองตกลง โดยให้จำเลยที่ 1 จัดส่งท่อพลาสติกไปยังหน่วยงาน ส่วนโจทก์ทั้งสองก็จัดหาวัตถุอื่นและเงินลงทุน

ครั้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2517 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการและนายวินันท์ ณัฐรุจิโรจน์ กรรมการ ได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยเรียกเงินค่าซื้อเชื่อท่อพลาสติก ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์ที่ 1ใช้ค่าท่อพลาสติกตามฟ้อง เหตุที่จำเลยชนะคดีโจทก์เพราะระหว่างตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2516 เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยทั้งสองได้บังอาจสมคบกันปลอมแปลงใบส่งของสร้างหลักฐานอันเป็นเท็จ ให้การเท็จว่าโจทก์ทั้งสองสั่งซื้อเชื่อท่อพลาสติกและค้างเงินจำเลยที่ 1 อยู่ ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารใบส่งของอันเป็นเท็จรวม 29 ฉบับท้ายคำฟ้อง

ในวันที่ 11 มิถุนายน 2517 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ได้สาบานตนเข้าเบิกความเป็นพยานอันเป็นพยานเท็จในการพิจารณาคดีของศาลแพ่งคดีหมายเลขดำที่ 673/2517 แดงที่ 2669/2518 ซึ่งความจริงโจทก์ไม่ได้สั่งซื้อเชื่อท่อพลาสติกของจำเลยและค้างเงินอยู่แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่จำเลยได้ส่งท่อพลาสติกจำนวนหนึ่งไปเข้าหุ้นส่วนกับโจทก์ตามที่ตกลงกัน ใบส่งของที่ส่งท่อพลาสติกไปเป็นอีกยอดหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่ใบส่งของที่จำเลยอ้างไว้ในคดีแพ่ง จำเลยที่ 2 เบิกความเท็จและนำสืบหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีของศาลอันเป็นข้อสำคัญในคดีเป็นเหตุให้ศาลแพ่งหลงเชื่อว่าเป็นความจริง ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 177, 180

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า เฉพาะความผิดฐานปลอมเอกสารไม่มีมูลความผิด ส่วนความผิดฐานเบิกความเท็จนำสืบแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณา พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ส่วนความผิดฐานเบิกความเท็จและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เป็นฟ้องเคลือบคลุม พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาในความผิดฐานปลอมเอกสารว่าคำสั่งศาลที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องวินิจฉัยชี้ขาดถึงความผิดขั้นลงโทษแก่จำเลยแต่อย่างไร โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 คำสั่งศาลที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา เมื่ออัตราโทษในความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและกรณีไม่อยู่ในข้อยกเว้นที่จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีโจทก์ก็ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ในความผิดอีกสองฐานจะเป็นฟ้องที่สมบูรณ์หรือไม่นั้นเฉพาะในความผิดฐานเบิกความเท็จ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้เลยว่าจำเลยเบิกความว่าอย่างไร ที่โจทก์ถือว่าจำเลยเบิกความเท็จในข้อสำคัญในคดี ส่วนในความผิดฐานนำสืบหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ แม้พอจะอนุมานตามคำฟ้องโจทก์ได้ว่า พยานหลักฐานสำคัญที่จำเลยนำสืบหรือแสดงอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ก็คือสำเนาภาพถ่ายเอกสารใบส่งของ 29 ฉบับท้ายคำฟ้อง แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้เลยว่า เหตุเกิดขึ้นเมื่อไร ฟ้องโจทก์ในความผิดทั้งสองฐานนี้จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

พิพากษายืน

Share