แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 มาตรา 30 หาได้มีความทับในเรื่องเงินรางวัลตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 ไม่ เพราะไม่ได้กล่าวถึงเงินรางวัลไว้ คงบัญญัติแต่ในเรื่องเงินสินบลอย่างเดียว เงินรางวัลตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดฯ จึงยังคงใช้ได้อยู่ และถือตามอัตราเดิม เพราะการบอกแก้ไขราชกิจจาฯ (ประกาศเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร) นั้นใช้ไม่ได้ (อ้างฎีกา 1073/2492)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 26/2492)
ย่อยาว
ความว่า จำเลยกระทำผิด พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 โดยขายไข่เป็ดจืดไม่ปิดป้ายแสดงราคา
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้ปรับจำเลยตามมาตรา 7, 17 เป็นเงิน 140 บาท โดยลดกึ่งหนึ่งแล้ว แต่ข้อที่โจทก์ขอให้จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับให้ยกเสีย เพราะ พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควรฯ ได้มีความทับ พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 แล้ว
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้ประชุมใหญ่เห็นว่า พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดฯ นั้น มิได้ใช้บังคับแก่ พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควรฯ ฉบับใดฉบับหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ใช้บังคับแต่ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้ากำไรเกินควรทั่วไป และใช้บังคับความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ที่ระบุไว้ด้วย และตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามฯ นั้นให้จ่ายเงินบำเหน็จเป็น 2 ประเภท คือ เงินสินบลและเงินรางวัล และให้พนักงานอัยยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาล พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควรฯ มาตรา 20 ไม่ได้ใช้คำว่าบำเหน็จ แต่บัญญัติในเรื่องเงินสินบลอย่างเดียว ไม่ได้กล่าวถึงเงินรางวัล แม้จะถือว่า พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควรฯ มาตรา 20 มีความทับ พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามฯ ในเรื่องป้องกันการค้ากำไรเกินควรแล้วก็คงถือได้ว่าทับเฉพาะในเรื่องเงินสินบลเท่านั้น หาได้ทับในเรื่องเงินรางวัลไม่ จึงยังใช้ได้อยู่ คงถืออัตราเดิมให้จ่ายรางวัลร้อยละ 25 ของราคาของกลางหรือค่าปรับ ถ้าเป็นกรณีไม่มีผู้นำจับให้จ่ายรางวัลร้อยละ 20 ตามวรรค 2 ทั้งนี้โดยไม่ถือตามที่ราชกิจจาบอกแก้ไข เพราะการบอกแก้ไขเช่นนั้นใช้ไม่ได้ตามฎีกาที่ 1072/2492
คดีนี้ไม่ปรากฎว่ามีผู้นำจับ จึงพิพากษาแก้ ให้จ่ายรางวัลแก่ผู้จับร้อยละ 20 ของค่าปรับ ตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 นอกนั้นยืน