แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้และให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามวรรคนี้ เป็นการจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” หมายความว่า เมื่อนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีในวันบอกเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายจนถึงวันที่เลิกสัญญาจ้างโดยให้ถือว่าค่าจ้างที่จ่ายนี้เป็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
นายจ้างบอกเลิกจ้างลูกจ้างรายวันซึ่งกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2542 เป็นการบอกเลิกจ้างก่อนวันที่ 15 เมษายน 2542 อันเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้าง และจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ 30 เมษายน 2542 อันเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แต่ในช่วงวันที่ 8 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2542 เป็นช่วงปิดเทอม ลูกจ้างรายวันไม่ต้องมาทำงานและไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างเนื่องจากลูกจ้างรายวันจะได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่มาทำงาน เมื่อนายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายวันในช่วงดังกล่าว นายจ้างจึงไม่ต้องจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ ๓/๒๕๔๒
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้แก้ไขคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ ๓/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๒ เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นางสาววาสิฏฐี ศรีเมือง นางวรรณดี เมืองแดง และนางกมลรัตน์ ฤทธิ์กัน คนละ ๑,๙๕๐ บาท เป็นให้งดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่บุคคลทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งเดิม
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเพียงประการเดียวว่า โจทก์ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นางสาววาสิฏฐี นางวรรณดี และนางกมลรัตน์ หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสี่ บัญญัติว่า “การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้และให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามวรรคนี้ เป็นการจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา ๕๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” หมายความว่า เมื่อนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีในวันบอกเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายจนถึงวันที่เลิกสัญญาจ้าง โดยให้ถือว่าค่าจ้างที่จ่ายนี้เป็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นางสาววาสิฏฐี นางวรรณดี และนางกมลรัตน์เป็นลูกจ้างรายวัน ทำหน้าที่เป็นพนักงานขายเครื่องดื่มประจำซุ้มในโรงเรียนสุราษฎร์ธานีเฉพาะในช่วงเปิดเทอม ได้รับค่าจ้างวันละ ๑๒๕ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๑๕ และวันสิ้นเดือน โจทก์บอกเลิกจ้างบุคคลทั้งสามเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นการบอกเลิกจ้างก่อนวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๔๒ อันเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้าง และจะมีผลเป็น การเลิกสัญญาจ้างกันในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๒ ถึงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๒ เป็นช่วงปิดเทอม นางสาววาสิฏฐีกับพวกไม่ต้องมาทำงานและไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงปิดเทอมดังกล่าว เนื่องจากเป็นลูกจ้างรายวันจะได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่มาทำงานเท่านั้น ดังนั้น แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับนางสาววาสิฏฐีและพวกจะมีผลเป็นการเลิกสัญญากัน ในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๒ แต่โจทก์ให้นางสาววาสิฏฐีกับพวกออกจากงานทันทีในวันบอกเลิกจ้างคือวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๒ โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่นางสาววาสิฏฐีกับพวกในช่วงดังกล่าว โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นางสาววาสิฏฐีกับพวก
พิพากษายืน.