คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่โจทก์ ส่วนจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างดังกล่าวมิใช่ผู้ที่ถูกประเมินจึงไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานประเมินจะแจ้ง การประเมินให้แก่จำเลย ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการ ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ให้ชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งเป็นหนี้ของห้างได้โดย ไม่ต้องแจ้งการประเมินให้จำเลยก่อน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1071 ประกอบมาตรา 1080ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในการบังคับคดีโดยจะให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดก่อน หรือจะให้บังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้ก็ได้ ซึ่งแตกต่างกับกรณีเป็นผู้ค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันสามารถจะใช้สิทธิเรียกร้องให้เจ้าหนี้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนตามมาตรา 688 อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใด ห้ามโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดมิให้ฟ้องร้องหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยต้องไปบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดก่อนการที่โจทก์ฟ้องจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งตามหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2540 โจทก์ได้ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินระหว่างปี 2532 ถึง 2534 พร้อมเงินเพิ่มเป็นเงิน 629,640 บาท ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5สิงหาคม 2540 ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ3,000 บาท ตามคดีหมายเลขดำที่ 42/2540 หมายเลขแดงที่ 83/2540คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งยังไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีแล้วแต่ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดชำระหนี้โจทก์จึงยังไม่ได้รับชำระหนี้ จำเลยเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีหน้าที่จัดการห้างจึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างโดยไม่จำกัดจำนวนและต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077, 1080, 1083 โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2541 และจำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 629,640 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาศาลฎีกาส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามคำฟ้องของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร จึงเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรศาลฎีกาพิพากษากลับให้ศาลภาษีอากรกลางรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาต่อไป

จำเลยให้การว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ แต่โจทก์ไม่ได้แจ้งคำชี้ขาดให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งทราบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่ง แม้ศาลภาษีอากรกลางจะพิพากษาให้ห้างชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและเงินเพิ่มแก่โจทก์ โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการให้รับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาต่อโจทก์ ห้างยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ต่อโจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้แจ้งคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และยังไม่ได้แจ้งคำบังคับให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080 ห้างยังมีรายได้และทรัพย์สินอีกทั้งสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมากพอที่จะชำระหนี้ต่อโจทก์และการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินดังกล่าวไม่เป็นการยากลำบาก โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยรับผิดโดยไม่ดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของห้างก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1071 ประกอบมาตรา 1080ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 629,640 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบและรับกันว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่ง ซึ่งถูกศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ชำระเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมเงินเพิ่ม จำนวน 629,640 บาท แก่โจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 83/2540 คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดชอบต่อหนี้จำนวน 629,640 บาท ด้วยหรือไม่เพียงใด จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้แจ้งคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งทราบจึงถือไม่ได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งผิดนัด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งและจำเลย เห็นว่า ตามคำพิพากษาในคดีแดงที่ 83/2540 ของศาลชั้นต้นนั้น ได้ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติชัดเจนว่าเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวทราบแล้ว ปรากฏตามใบแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.2แผ่นที่ 23 และใบรับเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 24 ถึงแผ่นที่ 26 การแจ้งการประเมินดังกล่าวจึงชอบ ส่วนจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างดังกล่าวมิใช่ผู้ที่ถูกประเมิน จึงไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานประเมินจะแจ้งการประเมินให้แก่จำเลย ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งและจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปที่ว่าโจทก์ประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเฉพาะของจำเลยนั้น เป็นการกระทำโดยชอบและโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า ในประเด็นข้อนี้จำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้มาแต่ต้น จึงมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ามาแล้วโดยชอบ ในศาลชั้นต้นและไม่เป็นกรณีที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ อุทธรณ์ข้อต่อไปมีว่า โจทก์จะฟ้องให้จำเลยชำระหนี้โดยมิได้บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งก่อนได้หรือไม่เพียงใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1071ประกอบมาตรา 1080 ได้บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา 1070 นั้นถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนนำพิสูจน์ได้ว่า

(1) สินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนยังมีพอที่จะชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือบางส่วน และ

(2) การที่จะบังคับเอาแก่ห้างหุ้นส่วนนั้นชำระหนี้ไม่เป็นการยากฉะนี้ไซร้

ศาลจะบังคับให้เอาสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนนั้นชำระหนี้ก่อนก็ได้สุดแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวได้ให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจในการบังคับคดีโดยจะให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่ง ก่อนก็ได้ สุดแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรหรือจะให้บังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งก็ได้ ซึ่งแตกต่างกับกรณีเป็นผู้ค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันสามารถจะใช้สิทธิเรียกร้องให้เจ้าหนี้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใด ห้ามโจทก์มิให้ฟ้องร้องหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยต้องไปบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดก่อน เพียงแต่กฎหมายให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ก่อนที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของหุ้นส่วนผู้จัดการเท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นดุจกัน”

พิพากษายืน

Share